สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Niels Bohr Institute ของเดนมาร์กเยือนไทย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Niels Bohr Institute ของเดนมาร์กเยือนไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ต.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ต.ค. 2566

| 415 view

โดยเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ศาสตราจารย์ Jan W. Thomsen ได้เยี่ยมชมสถาบันมาตรวิทยาซึ่งมีงานวิจัยที่คล้ายกันเกี่ยวกับนาฬิกาอะตอมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเวลาและความถี่ของประเทศไทย และส่งผลให้การวัดทางมิติและการวัดทางไฟฟ้ามีความแม่นยำมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือพื้นฐานในการทำวิจัยด้านเทคโนโลยีควอนตัม ไม่ว่าจะเป็นมาตรวิทยาและการตรวจวัดเชิงควอนตัม (Quantum Metrology and Sensing) หรือควอนตัมคอมพิวเตอร์

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 ศาสตราจารย์ Jan W. Thomsen ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีควอนตัมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ที่ จ.นครราชสีมา โดยมีศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา สาขาวิชาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศไทย ให้การต้อนรับ
 
จากนั้นในวันที่ 20 กันยายน 2566 ศาสตราจารย์ Jan W. Thomsen ได้เป็นวิทยากรในงานสัมมนา Denmark-Thailand Quantum Technology Seminar" ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ โดยได้นำเสนอความก้าวหน้าและการผลักดันทางเทคโนโลยีควอนตัมในเดนมาร์กที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีควอนตัมไปเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยไทยในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมไทยและก้าวสู่เวทีโลกในอนาคต
 
ในโอกาสดังกล่าว ศาสตราจารย์ Jan W. Thomsen ได้ร่วมหารือกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ตลอดจนคณะนักวิจัยไทยของกลุ่มคอนซอร์เทียมควอนตัมในประเทศ ไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของการพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยีควอนตัม รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมร่วมกันระหว่างไทยกับเดนมาร์กต่อไปในอนาคต

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ