เมื่อวันที่ 20-21 กันยายน 2566 เด็กและเยาวชนกว่า 50 ประเทศ ได้เข้าร่วมงานการประชุมสมัชชาเด็กและเยาวชน Children’s General Assembly (CGA) 2023 ที่เมือง Billund ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยองค์กร CoC Playfulminds ซึ่งเป็นองค์กรร่วมภาครัฐกับเอกชนระหว่างเทศบาลเมืองบิลลุนด์ (Billund Municipality) กับมูลนิธิเลโก้ (LEGO Foundation) เพื่อจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ของเดนมาร์กในการส่งเสริมสิทธิเด็กและเยาวชนจากทั่วโลก โดยในปีนี้เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีเด็กและเยาวชนของไทยจำนวน 3 ราย ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมงานดังกล่าว ได้แก่
ในโอกาสนี้ นางศิริลักษณ์ นิยม เอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่ LEGO Campus ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท LEGO Group ร่วมกับผู้บริหารของ CoC Playfulminds พร้อมกับทูตอีกหลายประเทศ หลังจากนั้น เอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าร่วมพิธีเปิดงาน CGA 2023 และได้พบและแสดงความยินดีกับเด็กนักเรียนไทยทั้งสามคนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทยมาเข้าร่วมงานการประชุมสมัชชาเด็ก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของเด็กไทยที่ได้มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญของโลก ตลอดจนได้มาร่วมทำกิจกรรมที่เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทัศนศึกษาร่วมกับเด็กอีกกว่า 80 คนจาก 50 ประเทศในเมือง Billund ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของเด็ก (Capital of Children) และเป็นที่ตั้งของ LEGO เมืองที่เด็กทั่วโลกใฝ่ฝันจะได้มาเยือน ซึ่งเป็นโอกาสพิเศษที่หาไม่ได้ง่าย และขอให้นักเรียนทั้งสามคนนำความรู้และประสบการณ์ที่มีค่าที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ไปถ่ายทอดให้กับเพื่อนๆ ที่ประเทศไทยได้รับทราบด้วย
ในปีนี้ มีเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-17 ปี จากทั่วโลกผ่านการคัดเลือกจำนวน 80 คน โดยผู้จัดงานจะคัดเลือกจากใบสมัคร จากนั้นผู้ได้รับการคัดเลือกจะต้องเข้าร่วมกิจกรรม digital co-creation workshops ผ่านระบบออนไลน์ในช่วงเดือน เม.ย. - ส.ค. 2566 ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ทำความรู้จักกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวบรวมมุมมองทางด้านสิทธิเด็ก เสริมสร้างความร่วมมือและวิธีการแก้ไขปัญหาของโลกปัจจุบันร่วมกัน ก่อนที่จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสมัชชาเด็กและเยาวชนที่เมือง Billund ในเดือนกันยายน เพื่อร่วมกันอภิปรายและนำเสนอมุมมองด้านกระบวนการทางประชาธิปไตยและแนวทางการแก้ไขปัญหาของโลก อาทิ การเข้าถึงการศึกษา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการจัดทำแถลงการณ์ร่วม (joint manifesto) ซึ่งเด็กนักเรียนไทยได้มีส่วนในการจัดทำ ทั้งนี้แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวจะได้รับการเสนอต่อไปยังที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (United Nation General Assembly : UNGA) เพื่อให้ผู้นำทั่วโลกได้รับทราบมุมมองและเสียงของเด็กจากทั่วโลกและนำความเห็นของเด็กเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายที่อาจส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ต่อไป