ความสัมพันธ์อาเซียน – สหภาพยุโรป

ความสัมพันธ์อาเซียน – สหภาพยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,282 view

ความสัมพันธ์อาเซียน – สหภาพยุโรป

1. ความเป็นมา

1.1 สหภาพยุโรป (European Union – EU) เริ่มต้นความสัมพันธ์กับอาเซียนตั้งแต่ปี 2515 (ค.ศ. 1972) และได้พัฒนาเป็นคู่เจรจาอย่างเป็นทางการในปี 2520 (ค.ศ. 1977) ปัจจุบัน เวียดนามเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-EU โดยมีวาระ 3 ปี (กรกฎาคม 2555-กรกฎาคม 2558) และไทยจะรับตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานฯ ต่อจากเวียดนามในปี 2558

1.2 ปัจจุบัน ความสัมพันธ์อาเซียน-EU อยู่ในระดับ ‘enhanced partnership’ โดยการดำเนินความสัมพันธ์อาเซียน-EU เป็นไปตามเอกสาร Nuremberg Declaration on an EU-ASEAN Enhanced Partnership (2007) โดยมี Bandar Seri Begawan Plan of Action to Strengthen the ASEAN-EU Enhanced Partnership (2013-2017) เป็นแผนงานความร่วมมือ โดยครอบคลุมความร่วมมือที่จะสนับสนุนสามเสาหลักของประชาคมอาเซียน ทั้งด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน และการเสริมสร้างประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานของสถาบันต่างๆ ของอาเซียน

1.3 อาเซียนและ EU มีการประชุมระดับรัฐมนตรี (ASEAN-EU Ministerial Meeting) ทุก ๆ สองปี โดยจัดสลับกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับ EU และทุกๆ ปี จะมีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนและผู้แทนของ EU ผ่านกรอบ ASEAN Post Ministerial Conference (PMC)+1 นอกจากนี้ อาเซียนและ EU ยังมีการประชุมหารืออย่างสม่ำเสมอผ่านกรอบเจ้าหน้าที่อาวุโส (ASEAN-EU SOM) และคณะผู้แทนถาวรประจำกรุงจาการ์ตา

2. พัฒนาการความร่วมมือที่สำคัญ

2.1 ภาพรวม ความสัมพันธ์อาเซียน-EU มีพัฒนาการมากขึ้นในมิติต่างๆ โดย EU ได้แสดง ความตั้งใจที่จะกระชับความร่วมมือกับอาเซียนในทุกมิติ และยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (strategic partnership) ตลอดจนแสดงท่าทีที่ชัดเจนต้องการจะเข้าร่วม East Asia Summit (EAS) และผลักดันให้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน-EU เกิดขึ้นเป็นประจำ

2.2 EU สนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนในทุกเสาผ่านกรอบความร่วมมือต่างๆ อาทิ ASEAN Regional Integration Supported by the EU (ARISE) ระหว่างปี ค.ศ. 2012-2015 ซึ่งสนับสนุนการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจในอาเซียน ด้วยงบประมาณจำนวน 15 ล้านยูโร และ Regional EU-ASEAN Dialogue Instrument (READI) ระหว่างปี ค.ศ. 2011-2014 ซึ่งสนับสนุนความสัมพันธ์อาเซียน-EU ในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ การจัดการภัยพิบัติ พลังงาน ICT และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ด้วยงบประมาณจำนวน 7.3 ล้านยูโร

2.2 ด้านการเมืองและความมั่นคง ปัจจุบัน อาเซียนและ EU มีความร่วมมือด้านความมั่นคงผ่าน กรอบ ASEAN Regional Forum (ARF) และ EU ได้แสดงความสนใจที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกับอาเซียนในการเมืองและความมั่นคง โดยพร้อมที่จะแสดงบทบาทอย่างแข็งขันใน ARF และขยายความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น การบริหารจัดการชายแดน อาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมไซเบอร์ การจัดการภัยพิบัติ และความมั่นคงทางทะเล

- EU เป็นภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 และสนใจที่จะจัด Roundtable for High Contracting Parties to the TAC ในโอกาสต่อไป

- EU ได้แสดงความประสงค์ที่จะเข้าร่วมการประชุม ASEAN Defence Ministers Meeting Plus (ADMM Plus) ด้วย

2.3 ด้านเศรษฐกิจ EU สนใจที่จะเริ่มเจรจา ASEAN-EU FTA อีกครั้ง ในปี 2558 (เมื่ออาเซียนบรรลุการสร้างประชาคมอาเซียนแล้ว) หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายระงับการเจรจาไปเมื่อปี 2552 และ EU ได้หันมาเจรจากับอาเซียนเป็นรายประเทศแทน ซึ่ง EU ถือว่าเป็น building bloc เพื่อนำไปสู่การจัดทำ FTA ในระดับภูมิภาคกับอาเซียนต่อไป ปัจจุบัน EU ได้สรุปการเจรจา FTA กับสิงคโปร์แล้วเมื่อเดือน ธ.ค. 2555 และอยู่ในระหว่างการเจรจากับเวียดนาม มาเลเซีย และไทย

2.4 ด้านสังคมและวัฒนธรรม EU และอาเซียนมีความร่วมมือผ่านกรอบงบประมาณ Regional EU-ASEAN Dialogue Instrument (READI) ระหว่างปี ค.ศ. 2011-2014 ซึ่งเป็นกลไกด้านนโยบายสนับสนุนความสัมพันธ์อาเซียน- EU ในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการค้า อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิทยาศาสตร์ สิทธิมนุษยชน การจัดการภัยพิบัติ ด้วยงบประมาณจำนวน 7.3 ล้านยูโร และโครงการ EU Support to Higher Education in ASEAN Region (EU SHARE) ระหว่างปี ค.ศ. 2013-2017 ซึ่งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในประเทศอาเซียน ด้วยงบประมาณจำนวน 10 ล้านยูโร

2.5 สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ ประเด็นที่อยู่ในความสนใจร่วมกันระหว่างอาเซียนกับ EU ประกอบด้วย สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี สถานการณ์การเงินและเศรษฐกิจโลกและ EU พัฒนาการในอาเซียน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

3. ความสัมพันธ์ระหว่างสมัชชารัฐสภาอาเซียนและสภายุโรป

3.1 สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly : AIPA) ประกอบด้วยรัฐสภาแห่งชาติของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ โดย AIPA จะมีการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน (General Assembly-GA) เป็นประจำทุกปี เพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่ออาเซียน และเสนอแนะมาตรการด้านรัฐสภาและด้านนิติบัญญัติในการพัฒนาอาเซียนและแก้ไขปัญหาร่วมกันในอาเซียน ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างการประชุม AIPA GA จะมีการจัดประชุมกับคู่เจรจาของ AIPA ซึ่งรวมถึงสภายุโรป ด้วย โดยล่าสุด การประชุม AIPA GA ครั้งที่ 34 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17-23 กันยายน 2556 ณ บรูไนดารุสซาลาม ซึ่งผู้แทนสภายุโรปเข้าร่วมการประชุมด้วย

3.2 เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2557 สภายุโรปได้ออกข้อมติเรื่อง ‘The Future of EU-ASEAN Relations’ มีสาระสำคัญคือ สภายุโรปสนับสนุนการขยายความร่วมมือระหว่างอาเซียน-EU ในด้านต่างๆ อาทิ การเมือง สิทธิมนุษยชน สังคม วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และการเพิ่มขีดความสามารถของสำนักเลขาธิการอาเซียนและสถาบันต่างๆ อาทิ AICHR และ AIPA และขอให้ผู้นำประเทศอาเซียนสนับสนุนการเข้าร่วม EAS ของ EU ในอนาคต พร้อมกล่าวถึงประเด็นทวิภาคี อาทิ การสนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตยในเมียนมาร์ และการจัดทำความตกลง Partnership and Cooperation Agreement (PCA) ระหว่าง EU กับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ ข้อมติดังกล่าวเป็นข้อมติฉบับแรกของสภายุโรปต่ออาเซียน ซึ่งสะท้อนถึงความสนใจที่ EU ให้อาเซียนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในทุกมิติ รวมทั้งความกระตือรือร้นของ EU ที่มุ่งจะเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับอาเซียนในทุกด้าน