เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกนร่วมกับ Thailand and Nordic Countries Innovation Unit (TNIU) จัดกิจกรรม TNIU Week เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ TNIU เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมไทย-นอร์ดิก สู่ความยั่งยืน โดยในส่วนของเดนมาร์กมีการบรรยายในหัวข้อ "การเพาะปลูกอย่างยั่งยืน การจัดการกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร (Cultivate Sustainability : Tackling emissions from agriculture)" โดยมีนาย Niels Peter Noerring ผู้อำนวยการฝ่ายสภาพภูมิอากาศ ของสภาการเกษตรและอาหาร (DAFC) ของเดนมาร์ก และ ดร. เสกสรรค์ พาป้อง ผู้เชี่ยวชาญวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นวิทยากร
นางศิริลักษณ์ นิยม เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ได้กล่าวเปิดการสัมมนา TNIU Week ของเดนมาร์ก โดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนาในหัวข้อดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการเผาในภาคการเกษตร จึงน่าเรียนรู้ว่าเดนมาร์กมีการจัดการขยะในภาคการเกษตรอย่างไรที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยหวังว่าการสัมมนาจะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แนวทางที่เป็นประโยชน์และเพิ่มความพยายามในการร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
นาย Niels Noerring ได้บรรยายถึงการใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการจัดการในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เช่น การใช้สารแต่งเติมอาหารสัตว์ การใช้กระบวนการไพโรไลซิส (pyrolysis) เพื่อนำฟางหญ้าและของเหลือจากภาคการเกษตรสกัดออกมาเป็นพลังงานชีวมวลแล้วนำเข้าสู่กระบวนการสังเคราะห์เพื่อผลิตเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีในฟาร์มโคนม และการปรับปรุงพันธุกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการหารือกับฝ่ายไทยเกี่ยวกับการผลิตโคนมของไทยให้มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาเดนมาร์กได้ส่งออกวัวแดงมายังประเทศไทย รวมทั้งถึงโซลูชั่นระดับโลกที่เดนมาร์กส่งออกไปยังต่างประเทศที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
ดร. เสกสรรค์ พาป้อง ผู้เชี่ยวชาญวิจัย ได้บรรยายถึงการดำเนินการในหลายภาคส่วนของไทยในการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรม ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือในด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาขีดความสามารถด้านทรัพยากรมนุษย์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้
นอกจากนี้ วิทยากรทั้งสองยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความรู้เกี่ยวกับวิธีที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการการจัดเก็บภาษีคาร์บอน คาร์บอนเครดิต เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ สามารถติดตามรับชมการบรรยายของวิทยากรในหัวข้อดังกล่าวย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/nugJbvpTVK/