ตอนที่ 3: บทบาทของเดนมาร์กในการปฏิรูปสยามในช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 จากกองทัพเรือสยามจนถึง กรมตำรวจภูธร

ตอนที่ 3: บทบาทของเดนมาร์กในการปฏิรูปสยามในช่วงรัชกาลที่ 4 และ 5 จากกองทัพเรือสยามจนถึง กรมตำรวจภูธร

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 เม.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,088 view

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทั้ง 2 พระองค์ทรงมีพระวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปสยามและเพิ่มพูนการค้า ทำให้มีการติดต่อกับประเทศตะวันตกเพิ่มขึ้นอย่างมากไม่เพียงเฉพาะด้านการค้า แต่รวมทั้งการพัฒนาระบบราชการไทยซึ่งมีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวตะวันตกเป็นที่ปรึกษาในราชสำนักสยาม และโดยที่เดนมาร์กเป็นประเทศที่ไม่แสวงหาอาณานิคมหรือเผยแพร่อิทธิพลทางศาสนาเหมือนประเทศมหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ ทำให้ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระมหากษัตริย์สยาม โดยชาวเดนมาร์กหลายคนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการปฏิรูปสยามในช่วงดังกล่าว ซึ่งที่โดดเด่นที่สุดคือชาวเดนมาร์กที่รับราชการในกองทัพเรือสยามและกองตำรวจภูธร

กองทัพเรือสยาม

พระยาชลยุทธโยธินทร์ (Andreas du Plessis de Richelieu) หรือกัปตันริเชอเลียวเดินทางมาสยามครั้งแรกเพื่อเชิญพระราชสาสน์จากสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ 9 แห่งเดนมาร์กมายังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งหนึ่งเดือนถัดมาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมเรือปืนและมีหน้าที่คอยกำจัดโจรสลัดบนชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมาลายู และเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะก่อตั้งกองทัพเรือสยามขึ้นจึงได้ทรงแต่งตั้งให้กัปตันริเชอเลียวเป็นผู้ดำเนินการก่อตั้งกองทัพเรือในปี พ.ศ.2419 โดยเป็นนายทหารเรือชาวเดนมาร์กคนแรกที่ได้รับราชการในกองทัพเรือสยาม นอกจากนี้ กัปตันริเชอเลียวได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันเรือประพาสหลวงในปี พ.ศ. 2421 และต่อมาในปี พ.ศ. 2440 ได้รับแต่งตั้งเป็นพลเรือเอกและผู้บัญชาการสูงสุดในกองทัพเรือสยาม รวมทั้งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชลยุทธโยธินทร์และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก นอกจากนี้ ภายหลังจากพลเรือเอกริเชอเลียวได้เกษียณอายุราชการและเดินทางกลับมาพำนักในเดนมาร์กในปี พ.ศ. 2445 แล้ว ยังคงได้ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อไปด้วย

กองตำรวจภูธร

พระยาวาสุเทพ (Gustav Schau) เดิมทีได้รับราชการในกองนาวิกโยธินและต่อมาได้ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนราชองครักษ์ ในปี พ.ศ. 2430 ได้เข้าปราบปรามการปฏิวัติในลาวจนเป็นผลสำเร็จและอีกหนึ่งปีต่อมาก็ได้ปราบปรามการประท้วงของชาวจีนใกล้กับกรุงเทพฯ เมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระราชประสงค์ที่จะก่อตั้งกองตำรวจภูธรเพื่อส่งเสริมความมั่นคงภายในประเทศและรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัดต่างๆ จึงทรงแต่งตั้ง Gustav Schau เป็นผู้ดำเนินการจัดระบบกองตำรวจภูธรใหม่ ซึ่งมีกำลังตำรวจ 10,000 นาย โดยได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในปี พ.ศ. 2440  จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2458 และต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวาสุเทพ

นอกจากชาวเดนมาร์กทั้ง 2 ท่านดังกล่าวแล้ว ยังมีบุคคลสำคัญชาวเดนมาร์กที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยอีกหลายท่าน เช่น กัปตัน Frederik Kobke ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการศุลกากรแห่งสยามและกงสุลเดนมาร์กประจำประเทศไทยคนแรก นาย Hans Markvard Jensen ซึ่งรับราชการในกองตำรวจภูธรและเป็นผู้นำในการป้องกันจังหวัดลำปางและเชียงใหม่จากการรุกรานของรัฐฉาน รวมทั้ง นาย Erik Seidenfaden ซึ่งระหว่างการรับราชการในกองตำรวจภูธรได้ช่วยเหลือการอพยพข้าราชการไทยและครอบครัวออกจากพื้นที่สามจังหวัดในกัมพูชาและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมสยาม (Siam Society)

แหล่งข้อมูล: 1) หนังสือ “สัมพันธไมตรีไทย-เดนมาร์กในรอบสี่ศตวรรษ” จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กและเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี เสด็จฯ เปิดการแสดงนิทรรศการพิเศษ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ระหว่างการเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

2) หนังสือ “A Tale of Two Kingdoms” จัดพิมพ์โดยบริษัท อีสเอเชียติก (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2539

 

ภาพประกอบ

the_prince

ภาพที่ 1. พระยาชลยุทธโยธินทร์ ผู้บัญชาการสูงสุดในกองทัพเรือสยามได้ติดตามสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในการเสด็จประพาสเดนมาร์กครั้งแรกในปี พ.ศ. 2434

 

 

general_gustav

ภาพที่ 2. Gustav Schau ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดแห่งกองตำรวจภูธรในปี พ.ศ.2440 และต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวาสุเทพ

 

 

frederik_kobke

ภาพที่ 3. กัปตัน Frederik Kobke เดิมทีเดินทางมาสยามในฐานะนายทหารชั้นหนึ่งของเรืออังกฤษและต่อมาได้เป็นกัปตันเรือสำเภาของพ่อค้าชาวจีน ด้วยความเป็นผู้มากความสามารถจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการศุลกากรแห่งสยาม ปราบปรามการลักลอบการค้า ในปี พ.ศ. 2411 กัปตัน Kobke ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลเดนมาร์กประจำประเทศไทยคนแรก

 

 

hans_jensen

ภาพที่ 4. Hans Markvard Jensen เป็นชาวเดนมาร์กที่รับราชการในกองตำรวจภูธรระหว่างปี พ.ศ. 2421-2445 โดยเป็นผู้นำป้องกันการบุกรุกจังหวัดลำปางของรัฐฉาน รวมทั้งสามารถรักษาจังหวัดเชียงใหม่ไว้ได้สำเร็จแม้ว่าจะเสียชีวิตจากการต่อสู้กองกำลังรัฐฉาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงเพื่อเป็นเกียรติแก่ความเสียสละดังกล่าว

 

 

major_erik_s

ภาพที่ 5. Erik Seidenfaden ระหว่างการรับราชการในกองตำรวจภูธรได้ให้ความช่วยเหลือในการอพยพข้าราชการไทยและครอบครัวออกจากพื้นที่สามจังหวัดในกัมพูชากลับสู่สยามอย่างปลอดภัยหลังจากที่สยามจำต้องยกจังหวัดทั้งสามให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2450  ต่อมาได้มาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมสยาม (Siam Society)