ตอนที่2: สนธิสัญญาทางพระราชไมตรี การค้า และการเดินเรือ พ.ศ. 2401 – จุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองราชอาณาจักร

ตอนที่2: สนธิสัญญาทางพระราชไมตรี การค้า และการเดินเรือ พ.ศ. 2401 – จุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองราชอาณาจักร

วันที่นำเข้าข้อมูล 17 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,832 view

หลังจากได้มีการติดต่อครั้งแรกระหว่างไทยกับเดนมาร์กในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเมื่อ #400ปีก่อน ก็ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันอีก จนกระทั่งในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2313 ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นอีกครั้ง โดยมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสั่งซื้อปืนใหญ่จำนวน 10,000 กระบอกจาก Danish Royal Asiatic Company โดยแลกเปลี่ยนกับดีบุกของสยาม แต่ระหว่างการขนส่งปืนใหญ่ในครั้งแรกได้เกิดระเบิดขึ้นจึงได้ทรงยกเลิกการสั่งปืนใหญ่ดังกล่าวไป

ความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรมีความชัดเจนมากขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสิน โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2394 ทรงมีวิสัยทัศน์ที่จะปฏิรูปและพัฒนาสยามรวมทั้งเปิดประเทศสู่การค้าขายกับชาวต่างชาติ

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2401 สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ 8 แห่งเดนมาร์กได้ส่งราชทูตมายังสยาม เพื่อลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี การค้า และการเดินเรือ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ โดยหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว การค้าระหว่างสองราชอาณาจักรได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี พ.ศ. 2403 เดนมาร์กได้เปิดสถานกงสุลที่กรุงเทพฯ ในขณะที่ฝ่ายไทยได้แต่งตั้งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย เป็นอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคเปนเฮเกนคนแรกในปี พ.ศ. 2425 และต่อมาในปี พ.ศ. 2501 ไทยได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับเดนมาร์กขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต โดยมีขุนพิพิธวิรัชชการ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโคเปนเฮเกนคนแรก

สนธิสัญญาทางพระราชไมตรี การค้า และการเดินเรือ พ.ศ. 2401 จึงถือเป็นสัญลักษณ์และจุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองราชอาณาจักร ทำให้เดนมาร์กเป็นมิตรประเทศที่ยาวนานที่สุดของไทยในภูมิภาคนอร์ดิก ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2561 ได้มีการฉลองครบรอบ 160 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเดนมาร์ก โดยมีการจัดทำตราสัญลักษณ์เพื่อฉลองโอกาสดังกล่าว ประกอบด้วยหงส์ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของเดนมาร์กและช้างซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย รวมกันเป็นหนึ่งโดยใช้สีแดง ขาว และน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีประจำชาติของทั้งสองประเทศ โดยหงส์หมายถึงความภาคภูมิและความรุ่งเรืองในขณะที่ช้างแสดงถึงความแข็งแกร่งและความยั่งยืน สะท้อนถึงมิตรภาพที่ดีอันยาวนานระหว่างไทยกับเดนมาร์ก

แหล่งข้อมูล: 1) หนังสือ “สัมพันธไมตรีไทย-เดนมาร์กในรอบสี่ศตวรรษ” จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กและเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี เสด็จฯ เปิดการแสดงนิทรรศการพิเศษ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ระหว่างการเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

2) หนังสือ “A Tale of Two Kingdoms” จัดพิมพ์โดยบริษัท อีสเอเชียติก (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2539

3) เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก

https://thailand.um.dk/en/about-us/news/newsdisplaypage/?newsid=bb5a5508-a9ef-45b7-8caf-bd8967056936

ภาพ : 1) “Danish sailors who once sailed to Siam” จากหนังสือ “A Tale of Two Kingdoms” หน้า 18 จัดพิมพ์โดยบริษัท อีสเอเชียติก (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2539  2) ตราสัญลักษณ์ครบรอบ 160 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเดนมาร์ก

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ