บทที่ 4 ย้อนรอยนักธุรกิจและวิศวกรเดนมาร์กผู้ช่วยพัฒนาสยามจากอดีตถึงปัจจุบัน

บทที่ 4 ย้อนรอยนักธุรกิจและวิศวกรเดนมาร์กผู้ช่วยพัฒนาสยามจากอดีตถึงปัจจุบัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 พ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,031 view

ภายใต้การปฏิรูปประเทศในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้มีการพัฒนาระบบคมนาคมและสาธารณูปโภครวมทั้งระบบธนาคารและการค้าให้ตามแบบของตะวันตก โดยนักธุรกิจและวิศวกรชาวเดนมาร์กหลายคนได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาดังกล่าว ซึ่งยังมีหลักฐานปรากฏจวบจนอยู่ถึงปัจจุบัน

ระบบรถไฟในสยาม

เมื่อรัชกาลที่ 5 มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างระบบรถไฟในสยาม บริษัท Paknam Railway Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ก่อตั้งโดยนาย Alfred John Loftus นักเดินเรือชาวอังกฤษและนาย Andreas du Plessis de Richelieu นายเรือชาวเดนมาร์ก ได้รับสัมปทานให้ก่อสร้างทางรถไฟสายแรกระหว่างกรุงเทพฯ – สมุทรปราการเรียกว่าเส้นทางปากน้ำ ซึ่งในปี พ.ศ. 2436 รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปเปิดสถานีรถไฟสมุทรปราการอย่างเป็นทางการ ทำให้รถไฟสายปากน้ำเป็นรถไฟเอกชนสายแรกที่เปิดดำเนินการ ต่อมาเมื่อกรมทางรถไฟหลวงได้ริเริ่มสร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา บริษัท Andersen & Company ที่ก่อตั้งโดยนาย H.N. Andersen นักธุรกิจชาวเดนมาร์ก ก็ได้เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างเส้นทางช่วงแรกระหว่างกรุงเทพฯ – อยุธยา ซึ่งเริ่มเปิดบริการในปี พ.ศ. 2439

ระบบบรถราง

นาย Aage Westenholtz เป็นนักธุรกิจชาวเดนมาร์กที่เดินทางมายังกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2429 และต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการบริษัท Bangkok Tramway Company ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างรถรางม้าสายแรกในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2431 และต่อมาในปี พ.ศ. 2437 นาย Aage Westenholtz ได้พัฒนารถรางไฟฟ้าและนำมาใช้แทนรถรางม้า โดยรถรางไฟฟ้าดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในสยามก่อนที่จะมีการสร้างรถรางไฟฟ้าขึ้นในกรุงโคเปนเฮเกนถึงเกือบหนึ่งทศวรรษ

ระบบไฟฟ้าในสยาม

ระบบไฟฟ้าได้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2427 โดยมีการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังเป็นที่แรก โดยวิศวกรชาวเดนมาร์กมีบทความสำคัญในการขยายระบบไฟฟ้าให้แพร่หลายสู่สาธารณะ โดยในปี พ.ศ. 2441 นาย Andreas du Plessis de Richelieu ทหารเรือชาวเดนมาร์กได้ก่อตั้งบริษัท Siam Electricity Company โดยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ ร่วมกับนาย Aage Westenholtz เริ่มให้บริการรถรางไฟฟ้าและจัดสรรไฟฟ้าให้แก่ประชาชนโดยตรง ซึ่งโรงงานผลิตไฟฟ้าแห่งแรกได้ถูกสร้างขึ้นที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) และต่อมาได้มีการก่อตั้งสถานีไฟฟ้าอีกแห่งในปี พ.ศ. 2455

ปูนซีเมนต์ไทย

บริษัท ปูนซีเมนต์ไทยถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2456 ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสยาม และโดยที่สยามและเดนมาร์กมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมีความร่วมมือใกล้ชิด บริษัท ปูนซีเมนต์ไทยจึงตัดสินใจสั่งซื้อเครื่องจักรสำหรับโรงงานปูนซีเมนต์จากบริษัท F.L. Smidth & Co. ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และแร่ธาตุที่ตั้งอยู่ในเดนมาร์ก พร้อมทั้งขอให้บริษัท F.L. Smidth & Co. จัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการการผลิตและการบัญชีจากเดนมาร์กมาช่วยบริหารโรงงานใหม่ด้วย

ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2449 ภายใต้พระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 5 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2450 ซึ่งนาย Andreas du Plessis de Richelieu นายเรือชาวเดนมาร์ก ได้นำเสนอโครงการริเริ่มก่อตั้งระบบธนาคารในสยามต่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ซึ่งต่อมานักธุรกิจเดนมาร์ก เช่น นาย H.N. Andersen ผู้ก่อตั้งบริษัท Andersen & Company รวมทั้งนาย Isaac Gluckstadt ผู้อำนวยการธนาคาร Danish Farmers’ Bank ของเดนมาร์กประจำกรุงโคเปนเฮเกนและ นาย C.F. Tietgen นักการเงินชาวเดนมาร์ก ได้ร่วมมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย

การบินไทย

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างสายการบินภายในประเทศของไทย กล่าวคือ Thai Airways Company (TAC) และสายการบิน Scandinavian Airlines System (SAS) ของเดนมาร์ก ซึ่ง SAS เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 30 ของบริษัท วัตถุประสงค์ของการร่วมทุนเพื่อสร้างองค์ประกอบที่เป็นสากลให้กับสายการบินภายในประเทศของไทย ทั้งนี้ SAS ยังให้ความช่วยเหลือในการจัดสรรผู้เชี่ยวชาญทางภาคปฏิบัติและด้านเทคนิค รวมทั้งการบริหารจัดการจากเดนมาร์กมาเพื่ออบรมบุคลากรและพัฒนาให้เป็นสายการบินแห่งชาติของไทยอีกด้วย 

****************

แหล่งข้อมูลและภาพ: 1) หนังสือ “สัมพันธไมตรีไทย-เดนมาร์กในรอบสี่ศตวรรษ” จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กและเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี เสด็จฯ เปิดการแสดงนิทรรศการพิเศษ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ระหว่างการเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

2) หนังสือ “A Tale of Two Kingdoms” จัดพิมพ์โดยบริษัท อีสเอเชียติก (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี    พ.ศ. 2539

3) The History of F.L. Smidth & Co. in Thailand, Embassy of Denmark in Bangkok

4) The Danes in Siam: Their Involvement in Establishing The Siam Commercial Bank Ltd. At the End of the Last Century by A. Eggers-Lura, Haslev, Denmark for The Journal of the Siam Society Vol. 81, Pt.2 (1993)

5) https://www.thaiairways.com/en_KR/about_thai/company_profile/history.page

6) https://inews.bangkokbiznews.com/read/375337

ภาพประกอบ

railway

เส้นทางรถไฟในสยามที่ก่อสร้างโดยวิศวกรชาวเดนมาร์กภายใต้พระราชประสงค์ในการพัฒนาระบบคมนาคมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

tramway

เส้นทางรถรางม้าสายแรกในกรุงเทพฯ ที่เปิดให้บริการในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2431 โดยมีระยะยาวถึงหกกิโลเมตรโดยวิ่งระหว่างพระบรมมหาราชวังไปยังท่าเรือกรุงเทพ

powerplant

สถานีไฟฟ้าแห่งแรกในกรุงเทพฯ ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2455 เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังการประปาและประชาชนทั่วไป

siam_cement

บริษัท ปูนซีเมนต์ไทยสั่งซื้อเครื่องจักรสำหรับโรงงานปูนซีเมนต์จากบริษัท F.L. Smidth & Co. ในปี พ.ศ.2456 ซึ่งถือเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางด้านปูนซีเมนต์จากเดนมาร์กสู่สยามเป็นครั้งแรก

siam_black_and_white

ธนาคารสยามกัมมาจลสาขาแรกในตลาดน้อยได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2449ภายใต้พระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 5 และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ในปี พ.ศ. 2482

tg1

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เริ่มให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศในปี พ.ศ. 2503 โดยมีเส้นปลายทางในทวีปเอเชียถึง 9 ประเทศ และเริ่มมีเที่ยวบินระหว่างทวีปในปี พ. ศ. 2514 โดยเริ่มจากออสเตรเลียเป็นประเทศแรกตามด้วยเที่ยวบินไปยุโรปในปี พ.ศ. 2515