วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.พ. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับเดนมาร์กที่มีมานานกว่า 400 ปี ได้วางรากฐานที่มั่นคงแก่ทั้งสองประเทศในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์สู่ความร่วมมือที่แข็งแกร่งเพื่ออนาคต โดยทั้งสองประเทศมีวาระร่วมกันหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นถึงความยั่งยืนและเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์
ในขณะที่โลกกำลังเผชิญต่อความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเดือนมกราคม 2564 รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ให้เป็นวาระแห่งชาติในการพัฒนาและกลยุทธ์เพื่อการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยโมเดลเศรษฐกิจ BCG มุ่งที่จะใช้ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยเป็นต้นทุนให้เกิดประโยชน์ ในขณะเดียวกันก็สร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นรวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการเติบโตที่คลอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้นโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ซึ่งมุ่งเน้นในการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
เดนมาร์กเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานมาจากสังคมเกษตรกรรมและการผลิตอาหารที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารจากการผลิตแบบดั้งเดิมสู่การผลิตสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ เดนมาร์กยังมีชื่อเสียงด้านการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสีเขียวและความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลเดนมาร์กได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 70 ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 รวมทั้งการตั้งเป้าการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2593 นอกจากนี้ จากการวิจัยชิ้นใหม่ของ GlobalData รัฐบาลเดนมาร์กกำลังดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573
ในส่วนของไทย โมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้เปิดโอกาสอย่างกว้างขวางต่อความร่วมมือทางด้านวิชาการและการค้าระหว่างไทยกับเดนมาร์กในอนาคต โดยทั้งสองประเทศมีประวัติความร่วมมือทางวิชาการร่วมกันมาอย่างยาวนาน โครงการที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการถ่ายทอดความเชี่ยวชาญด้านการผลิตนมโคของเดนมาร์กสู่ไทยภายใต้โครงการ “ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก” ซึ่งปัจจุบันสัญลักษณ์วัวแดงบนกล่องนมไทย-เดนมาร์กยังคงสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2564 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดการสัมนาออนไลน์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือไทย-เดนมาร์กในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อฉลองโอกาสครบรอบ 400 ปี การติดต่อกันครั้งแรกระหว่างไทยกับเดนมาร์ก การสัมนาดังกล่าวยังได้รวมองค์กรภาครัฐและเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้รวมทั้งผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนและความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างทั้งสองฝ่ายภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของบทบาทใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเดนมาร์ก โดยทั้งสองประเทศสามารถร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
ภาพประกอบ
รูปที่ 1: อุตสากรรมเป้าหมายทั้ง 4 ของโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) Economy เพื่อส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน
รูปที่ 2: จากซ้ายไปขวา นาย Jan Laustsen ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและการตลาดสภาเกษตรและอาหารแห่งเดนมาร์ก นาย Thomas Thor นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเมืองบอร์นโฮล์ม นายธนภูมิ ริมชลา อุปทูต นางสาววรัญญา ฉันทพันธุ์ ที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน และนาย Finn Mortensen กรรมการบริหาร State of Green ในการสัมนาออนไลน์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือไทย-เดนมาร์กในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) Economy ช่วง Policy Maker ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564
รูปที่ 3-6: ผู้เข้าร่วมและวิทยากรที่เข้าร่วมการสัมนาออนไลน์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือไทย-เดนมาร์กในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) Economy ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2564
เวลาทำการ: วันจันทร์ - วันศุกร์ 09:00 - 11:45 น. และ 13:00 - 15:45 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)