ตอนที่ 20: บทสรุปและก้าวต่อไปในอนาคต

ตอนที่ 20: บทสรุปและก้าวต่อไปในอนาคต

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ก.พ. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 642 view

เส้นทางประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับเดนมาร์กที่ได้นำเสนอมาจนถึงตอนที่ 20 นี้ได้แสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพที่ยาวนานและเป็นเอกลักษณ์ของสองราชอาณาจักร โดยเริ่มจากบันทึกของการติดต่อครั้งแรกเมื่อ 400 ปีก่อนเมื่อพ่อค้าชาวเดนมาร์กได้เดินทางมาถึงสยามและได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาให้ทำการค้ากับสยามได้ จนถึงการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตภายหลังการลงนามสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี การค้า และการเดินเรือ พ.ศ. 2401 และการแลกเปลี่ยน การเสด็จเยือนระหว่างสองราชวงศ์อีกหลายโอกาสภายหลังจากการเสด็จประพาสเดนมาร์กครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. 2440 โดยสิ่งเหล่านี้ได้วางรากฐานที่เข้มแข็งบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันเพื่อความสัมพันธ์ทวิภาคีที่อบอุ่นและพิเศษในยุคต่อ ๆ มา

ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกอื่น ๆ มุ่งหมายการขยายอาณานิคมและอิทธิพลทางศาสนาเป็นหลักแต่เดนมาร์กไม่ได้มีวัตถุประสงค์เช่นนั้นจึงทำให้ชาวเดนมาร์กจำนวนมากได้รับความไว้วางใจจากพระมหากษัตริย์แห่งสยามและได้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปประเทศสู่ความทันสมัยตั้งแต่กองทัพเรือสยามจนถึงกรมตำรวจภูธรและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ต่อมาในยุคปัจจุบันบริษัทเดนมาร์กได้ใช้ความได้เปรียบทางการแข่งขันของไทยเป็นฐานการผลิตและการส่งออกมานานหลายทศวรรษตลอดจนความร่วมมือทางวิชาการในภาคเกษตรกรรม โดยฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือที่ยั่งยืนระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระดับประชาชนระหว่างไทยกับเดนมาร์กก็มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอมาโดยเห็นได้จากนักท่องเที่ยวชาวเดนมาร์กที่เดินทางมาไทยมากกว่า 150,000 คนต่อปีรวมทั้งชุนชนชาวไทยขนาดใหญ่ที่พบบ้านหลังที่สองในเดนมาร์กผ่านการสมรส การทำงาน และการศึกษา

มิตรภาพทางประวัติศาสตร์ระหว่างไทยกับเดนมาร์กได้ยืนหยัดผ่านกาลเวลามานานโดยทั้งสองราชอาณาจักรกำลังร่วมสร้างอนาคตแห่งความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันโดยผ่านค่านิยมความยั่งยืน นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ที่มีร่วมกัน และไทยยังมุ่งขยายและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีกับเดนมาร์กในทุกมิติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

ในด้านการเมือง ไทยมุ่งผลักดันให้เกิดการเยือนระดับสูงและการประชุมเพื่อปรึกษาหารือทางการเมืองมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและผลักดันการเจรจาระหว่างประเทศให้ครอบคลุมเชื่อมโยงไปยังกระทรวงต่าง ๆ ที่รับผิดชอบในแต่ละประเด็นเฉพาะด้านที่นำมาซึ่งประโยชน์ร่วมกัน เช่น การค้าและการลงทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะปูทางไปสู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์สีเขียว ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นในด้านความร่วมมือด้านการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานสีเขียว การออกแบบและสถาปัตยกรรม การผลิตเชิงนวัตกรรม เศรษฐกิจดิจิทัล ความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสตาร์ทอัพ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนตัวแทนทางธุรกิจระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ จะส่งเสริมความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนชาวไทยกับชาวเดนมาร์กผ่านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรและยั่งยืน โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและโครงการฝึกอบรมตลอดจนการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ชุมชนไทยและ Friends of Thailand ในเดนมาร์กตลอดจนทีมประเทศไทยประจำเดนมาร์กได้มีส่วนร่วม

 

รูปประกอบ

 

1.2 remark_2  

 

Team_Thailand

นางศิริลักษณ์ นิยม เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน เป็นประธานการประชุมทีมประเทศไทยในกรุงโคเปนเฮเกน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 โดยมีหัวหน้าสำนักงานจาก 7 สำนักงานทีมประเทศไทยเข้าร่วมประชุม ได้แก่ สำนักงานฝ่ายการพาณิชย์ ณ กรุงโคเปนเฮเกน สำนักงานฝ่ายศุลกากร ณ กรุงบรัสเซลส์ สำนักงานฝ่ายการเกษตร ณ กรุงบรัสเซลส์ สำนักงานฝ่ายการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ สำนักงานฝ่ายทหารอากาศไทยประจำกรุงสตอกโฮล์ม สำนักงานฝ่ายส่งเสริมการลงทุน ณ กรุงสตอกโฮล์ม สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประจำกรุงสตอกโฮล์ม โดยวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันหารือเกี่ยวกับแผนงานในการส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับเดนมาร์กในสาขาต่าง ๆ