ตอนที่ 14: ช้างไทยในเดนมาร์ก – สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างสองราชอาณาจักร

ตอนที่ 14: ช้างไทยในเดนมาร์ก – สัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างสองราชอาณาจักร

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ธ.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 29,837 view

ช้างเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและยาวนานระหว่างไทยกับเดนมาร์กในทุกระดับมานานหลายศตวรรษ ตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์จนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ

ช้างไทยสองเชือกแรกเดินทางมายังเดนมาร์กเมื่อปี พ.ศ. 2421 โดยนาย Frederik Købke กงสุลเดนมาร์กประจำกรุงเทพฯ ได้นำ “อิน” และ “จัน” มามอบให้แก่สวนสัตว์โคเปนเฮเกนเป็นของขวัญ และต่อมาในปี พ.ศ. 2439 พลเรือเอก Andreas du Plessis de Richelieu ได้มอบช้างเพศเมียอีก 2 เชือก นามว่า “เอเลน” และ “เบบี้” เป็นของขวัญแก่สวนสัตว์

นอกจากนี้ พระราชวงศ์ไทยได้พระราชทานช้างเป็นของขวัญแก่ราชวงศ์เดนมาร์กถึงสองครั้ง โดยในปี พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานช้าง 2 เชือก นามว่า “เชียงใหม่” และ “บัวหา” แด่สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 และสมเด็จพระราชินีอินกริด เนื่องในโอกาสเสด็จฯ เยือนไทยระหว่างวันที่ 12 – 24 มกราคม พ.ศ. 2505 และต่อมาในปี พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานช้าง 2 เชือก นามว่า “ต้นสัก” และ “กันเกรา” แด่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามีเนื่องในโอกาสเสด็จฯ เยือนไทยระหว่างวันที่ 7 -12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 ในโอกาสดังกล่าว ชาวจังหวัดสุรินทร์ได้มอบช้างเพศเมียนาม “สุรินทร์” เป็นของขวัญแก่ชาวเดนมาร์กเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักร

เพื่อเป็นการฉลองโอกาสวันครบรอบการเดินทางถึงเดนมาร์กของช้างไทยพระราชทานในปี พ.ศ.2505 สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคเปนเฮเกนร่วมกับสวนสัตว์กรุงโคเปนเฮเกน ได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ช้างไทยพระราชทานขึ้นที่สวนสัตว์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 โดยมีเจ้าชายเฮนริกแห่งเดนมาร์กเป็นประธานในพิธี

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2556 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ เยือนเดนมาร์กเป็นการส่วนพระองค์และเสด็จเยี่ยมสวนสัตว์โคเปนเฮเกนพร้อมทั้งตั้งชื่อลูกช้างที่มีอายุเพียงสองสัปดาห์ในขณะนั้นว่า “เขาสก” ซึ่งเป็นลูกช้างที่เกิดจาก “เชียงใหม่” และ “กันเกรา” ทั้งนี้ “เขาสก” ได้ติดเชื้อไวรัสและต่อมาได้ถูกการุณยฆาตเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2557 โดยมีอายุเพียง 2 ปี

ในปี พ.ศ. 2539 “บัวหา” ล้มที่สวนสัตว์โคเปนเฮเกน ส่วน “เชียงใหม่” ถูกการุณยฆาตเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560 เนื่องจากความชราและโรคเรื้อรังต่างๆ โดย “เชียงใหม่” ถือเป็นช้างที่มีอายุมากที่สุดในยุโรปและได้รับฉายาเป็น “ปู่ทวดของช้าง” ในยุโรป เนื่องจาก “เชียงใหม่” เป็นพ่อพันธ์ให้กำเนิดช้างอีกหลายสิบเชือกในระยะเวลา 55 ปีที่ผ่านมา ซึ่งกระจายอยู่ในสวนสัตว์หลายแห่งทั่วยุโรป

ปัจจุบันสวนสัตว์โคเปนเฮเกนมีช้างไทยอยู่ 4 เชือก ได้แก่ “กันเกรา” “สุรินทร์” “พลายศัก” (เกิดจาก “เชียงใหม่” และ “กันเกรา”) และมูน (เกิดจาก “สุรินทร์” และ “ช้าง”) ซึ่งเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2563 ส่วนช้างเพศผู้ “ต้นสัก” ทางสวนสัตว์โคเปนเฮเกนได้ให้สวนสัตว์ในสวีเดนยืมเป็นพ่อพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558

รูปภาพ

 

thai_elephants-300x200_1

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมชมสวนสัตว์โคเปนเฮเกนระหว่างการเยือนเดนมาร์กในปี พ.ศ. 2556

 

elephant_1

ช้างไทยในสวนสัตว์โคเปนเฮเกน

 

elephant_2_1

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการเกี่ยวกับช้างที่จัดในสวนสัตว์โคเปนเฮเกน

 

elephant_hrh2_1

 

elephant5_1

 

elephant3_1

บรรยากาศการจัดงานฉลองครบรอบ 50 ปี ช้างพระราชทานที่สวนสัตว์โคเปนเฮเกนโดยมีเจ้าชายเฮนริกและพระราชนัดดาทั้ง 4 พระองค์เข้าร่วม โดยมีแขกเข้าร่วมประมาณ 150 คนพร้อมทั้งการแสดงจากวงดนตรีแจ๊สจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์