บทที่ 13: ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเดนมาร์กในยุคปัจจุบัน

บทที่ 13: ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและเดนมาร์กในยุคปัจจุบัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,847 view

การค้าและการลงทุนถือเป็นรากฐานที่สำคัญของความสัมพันธ์ไทย-เดนมาร์ก โดยการติดต่อครั้งแรกระหว่างสองอาณาจักรเมื่อ 400 ปีก่อนนั้นเริ่มต้นจากการเดินทางมาถึงสยามของเรือสินค้าเดนมาร์ก ซึ่งหลังจากนั้น จุดเริ่มต้นของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศจึงได้เริ่มขึ้นภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี การค้า และการเดินเรือ เมื่อปี พ.ศ. 2401 หรือเมื่อ 163 ปีที่แล้ว ซึ่งหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว การค้าระหว่างสองราชอาณาจักรได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามเส้นทางเดินเรือ โดยเฉพาะการก่อตั้งบริษัท Andersen & Co. ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2427 และบริษัทอีสท์เอเชียติกเมื่อปี พ.ศ. 2440 ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขยายการค้าระหว่างสองประเทศและเพิ่มการส่งออกของไทยในภูมิภาคอื่น นอกจากนี้ บริษัทด้านวิศวกรรมเดนมาร์กที่ได้เคยมีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในอดีตทั้งระบบรถไฟไปจนถึงไฟฟ้า ก็มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานการลงทุนของเดนมาร์กในประเทศไทยในยุคปัจจุบันด้วย

ในปี พ.ศ. 2563 การค้าทวิภาคีระหว่างไทยและเดนมาร์กมีมูลค่าถึง 760 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ช่วง 8 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2564 การค้ามีมูลค่าอยู่ที่ 640 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกอันดับต้นจากไทยไปเดนมาร์ก ประกอบด้วย อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้า ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัวและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง ส่วนสินค้านำเข้าหลักจากเดนมาร์กมายังไทย ได้แก่ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เครื่องจักรขนาดใหญ่ เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องมือ/เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์

ในด้านการลงทุน บริษัทชั้นนำของเดนมาร์กหลายแห่งได้ใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางยุทธศาสตร์และความได้เปรียบในการแข่งขันของไทยเป็นฐานการผลิตและสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคมาหลายทศวรรษ อาทิ Pandora,  Royal Copenhagen, George Jensen, Ecco, Danfoss, Grundfos, Maersk, Kvik Furniture และ M2 Animation นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2563  มีบริษัทเดนมาร์ก 2 บริษัทที่ได้ลงทุนมูลค่ารวมกว่า 700 ล้านบาทในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ บริษัท เมาน์เทน ท็อป (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต aluminium roll cover สำหรับรถกระบะ และบริษัท ลินัก เอแพค จำกัด ผู้ผลิต electric linear actuator solutions สำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกษตรกรรมไปจนถึงการแพทย์

การทำธุรกิจของบริษัทเดนมาร์กมีความสำคัญโดดเด่นในประเทศไทย โดยช่วยสร้างงานให้แก่คนไทยมากกว่า 50,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ หอการค้าไทย-เดนมาร์ก ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 ในปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 100 บริษัทและถือเป็นหอการค้าเดนมาร์กที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

ในทางกลับกัน บริษัทแนวหน้าของไทยได้เริ่มเข้าไปลงทุนในเดนมาร์ก เช่น เครือเซ็นทรัล ซึ่งได้ซื้อกิจการศูนย์การค้า Illum ใจกลางกรุงโคเปนเฮเกน รวมทั้งบริษัท การบินไทยฯ และ Thoresen Thai ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งทางเรือที่ได้ที่เปิดสำนักงานในเดนมาร์ก ไปจนถึง บริษัท SVI,  Team Precision, CPF food และร้านอาหารไทย Blue Elephant

นอกเหนือจากการค้าการลงทุนทวิภาคีระหว่างไทยกับเดนมาร์กในปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ภาคเอกชนไทยและเดนมาร์กยังกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นหุ้นส่วนใหม่ในสาขาที่มีความสำคัญกับอนาคต เช่น พลังงานสีเขียว และการผลิตอาหารและการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาจากการที่ทั้งสองฝ่ายเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จากโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green ของไทยและความเชี่ยวชาญของเดนมาร์กในสาขาเหล่านี้

แหล่งข้อมูลและรูปภาพ

pandora_factory

All rights reserved by PANDORA

Pandora แบรนด์เครื่องประดับของเดนมาร์กที่มีโรงงานผลิตในไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ได้เปิดโรงงานที่ล้ำสมัยแห่งที่สองที่จังหวัดลำพูน เมื่อปี พ.ศ. 2559 เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืน โดยการออกแบบโรงงานและกระบวนการผลิตมีมาตรฐานสูงด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรและความยั่งยืน รวมทั้งได้รับใบรับรอง LEED (Leadership in Energy and Environmental Design)

 

ILLUMthumbnail

ห้างสรรพสินค้า Illum ใจกลางถนนคนเดินกรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งเครือเซ็นทรัลได้ซื้อกิจการเมื่อปี พ.ศ. 2556

Thoresen_company_whole

บริษัทขนส่งทางเรือ Thoresen Thai ที่เปิดสำนักงานในเดนมาร์ก

 

bcg

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้จัดสัมนาออนไลน์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือไทย-เดนมาร์กในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2564

 

ASEAN-Briefing-Thailands-Eastern-Economic-Corridor-EEC

ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายทะเลตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา โดยถือเป็นประตูทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญสู่หนึ่งในภูมิภาคที่เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดของโลก โครงการดังกล่าวเสนอมาตรการทางภาษีที่เอื้ออำนวยและได้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากรวมถึงการลงทุนของเดนมาร์ก