บทที่ 9 : ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก จากความร่วมมือทางวิชาการสู่ตรานมแห่งชาติของไทย

บทที่ 9 : ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก จากความร่วมมือทางวิชาการสู่ตรานมแห่งชาติของไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ส.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 17,878 view

หลังจากการเสด็จฯ เยือนเดนมาร์กของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เมื่อปี พ.ศ. 2503 ซึ่งได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจการฟาร์มโคนมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมที่ฟาร์ม "Favrholm" และ "Trollesminde" เมือง Hillerød จึงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนากิจการโคนมในประเทศไทยเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรไทย โดยทรงผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านดังกล่าวจากเดนมาร์กสู่ประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลเดนมาร์กและสมาคมฟาร์มโคนมเดนมาร์กบริจาคเงินจำนวน 4.33 ล้านโครนเดนมาร์กสำหรับดำเนินโครงการโคนมในประเทศไทย และต่อมารัฐบาลไทยและเดนมาร์กได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางการเกษตร และได้ก่อตั้งฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กพร้อมศูนย์ฝึกอบรม ที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 และสมเด็จพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์ก ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิดฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก ในระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างการทางการ

การก่อตั้งฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กที่อำเภอมวกเหล็กนำไปสู่ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสมาคมผู้เลี้ยงโคนมเดนมาร์กกับรัฐบาลไทย โดยฝ่ายเดนมาร์กได้มอบโคนมจำนวน 160 ตัวแก่ฝ่ายไทยในช่วงเริ่มต้นการก่อตั้งฟาร์ม รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนและให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและการเงินทำให้ฟาร์มโคนม-ไทยเดนมาร์กเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กได้ถูกโอนกิจการทั้งหมดให้แก่รัฐบาลไทยและเปลี่ยนชื่อเป็นองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

ในปัจจุบัน องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เป็นผู้ผลิตนม “ไทย-เดนมาร์ก” ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นรูปวัวแดง 2 ตัว ถือเป็นหนึ่งในตราสินค้านมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 45 ของผลิตภัณฑ์นมในประเทศ นอกจากนี้ อ.ส.ค. ยังเดินหน้าปรับปรุงตลาดผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ก ให้มีการพัฒนาและผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น โยเกิร์ต และไอศกรีม เป็นต้น

โครงการฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก เป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยกับเดนมาร์ก โดยนมไทย-เดนมาร์กถือเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่ยาวนานและเป็นรูปธรรมจวบจนถึงปัจจุบัน

เนื้อเรื่องโดย: ชินวัฒน์ สำราญใจ

                มัญชุตา สวดมาลัย โอลเซ่น 

แหล่งข้อมูลและรูปภาพ:

1) หนังสือ “A Tale of Two Kingdoms” จัดพิมพ์โดยบริษัท อีสเอเชียติก (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2539

2) หนังสือ "ครบรอบ 50 ปี ฟาร์มโคนม ไทย-เดนมาร์ก" จัดพิมพ์โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เมื่อปี พ.ศ. 2555

3) https://www.prachachat.net/marketing/news-604134 

4) https://www.businesstoday.co/business/29/10/2020/53108/ 

5) https://today.line.me/th/v2/article/zKk7x5 

6) https://www.prachachat.net/economy/news-662663 

 

ภาพประกอบ

TDDF1

ภาพที่ 1: พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 และสมเด็จพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์ก เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2505

TDDF2

ภาพที่ 2: องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ผู้ผลิตนม “ไทย-เดนมาร์ก” ในปัจจุบัน

TDDF3

ภาพที่ 3: กลุ่มผลิตภัณฑ์นม “ไทย-เดนมาร์ก” ในปัจจุบัน

ThaiDenmark

ThaiDenmark1

ThaiDenmark2