วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
ไทยและเดนมาร์กมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและเป็นมิตร โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ที่มีความสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรในระดับต่าง ๆ โดย ภายหลังจากการขึ้นครองราชย์ 14 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ เยือน 13 ประเทศในยุโรปรวมทั้งเดนมาร์กเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 6-9 กันยายน พ.ศ. 2503
เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ถึงสนามบิน Kastrup ณ กรุงโคเปนเฮเกนในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2503 ทรงได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติจากสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 และสมเด็จพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์กพร้อมทั้งสมาชิกพระราชวงศ์เดนมาร์ก
สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 และสมเด็จพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์กได้ถวายพระราชวัง Fredensborg ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชวังฤดูร้อนที่มีสถาปัตยกรรมงดงามและเป็นเอกลักษณ์จากศตวรรษที่ 18 ให้เป็นที่ประทับระหว่างการเสด็จฯ เยือนเดนมาร์ก นอกจากนี้ ได้พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่พระราชวัง Christiansborg ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่กษัตริย์เดนมาร์กเพื่อตอบแทนพระราชไมตรีบนเรือยุตแลนเดียซึ่งบริษัทอีสท์เอเชียติกทูลเกล้าฯ ถวายเป็นเรือพระที่นั่งระหว่างประทับที่เดนมาร์ก
ข้อความส่วนหนึ่งจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 ในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ พระราชวัง Christiansborg เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2503 สะท้อนถึงความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสองประเทศ อันเกิดจากมิตรภาพของสองราชวงศ์ที่เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของการความสัมพันธ์ของภาคธุรกิจและระดับประชาชนของสองอาณาจักร
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ราชวงศ์ของเราทั้งสองได้เชื่อมความสัมพันธ์กันด้วยมิตรภาพ แม้ว่าโอกาสนี้จะเป็นการเสด็จฯ เยือนเดนมาร์กครั้งแรกของฝ่าพระบาท แต่ฝ่าพระบาทมิใช่ผู้แปลกหน้าแต่อย่างใด คนรุ่นก่อนยังคงระลึกถึงการเสด็จฯ เยือนเดนมาร์กของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชของฝ่าพระบาท ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ไทยพระองค์อื่น ๆ ก็ทรงเป็นอาคันตุกะของเดนมาร์กเรื่อยมา โดยการวางพระองค์อย่างสง่างามและความเป็นมิตรโดยธรรมชาติของพระองค์ทั้งหลายได้ช่วยเพิ่มพูนความเคารพนับถือและความรักใคร่ของของชาวเดนมาร์กทุกคนต่อประชาชนชาวไทย” (คำแปลภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการ)
เนื้อเรื่องโดย: ชินวัฒน์ สำราญใจ
มัญชุตา สวดมาลัย โอลเซ่น
แหล่งข้อมูลและรูปภาพ:
1) หนังสือ “A Tale of Two Kingdoms” จัดพิมพ์โดยบริษัท อีสเอเชียติก (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2539
3) หนังสือแผ่นพับ “สืบสาน...สมานมิตร Furthering the Bonds of Friendship” จัดพิมพ์โดยกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๑
สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 เฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
(รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ สนามบิน Kastrup กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2503
เจ้าชายวิกโกแห่งเดนมาร์กเฝ้าฯ รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
(รัชกาลที่ 9) และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่สนามบิน Kastrup ณ
กรุงโคเปนเฮเกนในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2503
สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 9 และสมเด็จพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์ก พระราชทานเลี้ยงกระยาหารค่ำ ณ พระราชวัง คริสเตียนสบอร์ก เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2503
พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่สมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๙ และสมเด็จพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์ก ในเรือพระที่นั่งยุตแลนเดียซึ่งบริษัทอีสท์เอเชียติกทูลเกล้าฯ ถวายเป็นเรือพระที่นั่งระหว่างประทับที่เดนมาร์ก
เวลาทำการ: วันจันทร์ - วันศุกร์ 09:00 - 11:45 น. และ 13:00 - 15:45 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)