วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.พ. 2566
ช้างกับพระราชวงศ์ไทย
ช้างมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยจุดเริ่มต้นของอารยธรรมไทยตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 13 นั้น ช้างถือเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จวบจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน โดยสำหรับชาวไทย ช้างเป็นสัตว์ที่สูงส่ง มีความชาญฉลาดและคู่ควรกับการดำรงตำแหน่งเคียงข้างพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช้างเผือกที่ได้รับเลือกให้เป็นช้างในพระราชพิธีต่าง ๆ เนื่องจากเป็นช้างที่หายากและมีสถานภาพที่ศักดิ์สิทธิ์ ช้างเผือกจึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจของกษัตริย์ โดยขอบเขตอำนาจของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ขึ้นอยู่กับจำนวนช้างเผือกที่ทรงครอบครอง ช้างเผือกที่ได้รับเลือกให้เป็นช้างคู่พระบารมีจะถูกคัดเลือกจากสายพันธุ์ที่ดีที่สุดและต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน ได้แก่ ตาขาว เพดานขาว เล็บขาว ขนขาว พื้นหนังขาว ขนหางขาว และอัณฑโกสขาว
การใช้ช้างในการทำศึกสงคราม
ในประวัติศาสตร์ไทย ช้างมีส่วนสำคัญในการปกป้องเอกราชของประเทศมาอย่างยาวนาน ด้วยขนาดและพละกำลังมหาศาล ช้างจึงถูกใช้ออกรบในสมรภูมิกับข้าศึก เช่น เขมรและพม่า ในช่วงสมัยราชอาณาจักรสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้ การที่ช้างสามารถบรรทุกทหารและออกวิ่งด้วยความเร็วถึง 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้ช้างได้รับการโจษขานว่าเป็นกองกำลังอันน่าพรั่นพรึงของกองทัพ โดยเฉพาะรูปลักษณ์ที่ใหญ่มหึมา ความเร็ว ความแข็งแกร่งและความสามารถในการทำลายทุกสิ่งกีดขวางในสมรภูมิ นอกจากนี้ การทำยุทธหัตถีหรือการสู้รบด้วยอาวุธบนหลังช้างระหว่างพระมหากษัตริย์ถือเป็นเอกลักษณ์ที่หายากแต่มีความสำคัญและเป็นเกียรติภูมิในสนามรบ โดยยุทธหัตถีเป็นประเพณีที่คล้ายกับการดวลบนหลังม้าระหว่างอัศวินของชาวตะวันตก โดยการดวลมักจะถึงแก่ชีวิต ช้างที่ได้รับเลือกให้พระมหากษัตริย์ทำยุทธหัตถีมักเป็นช้างพลายที่มีขนาดใหญ่และมีกะโหลกกว้าง มีงายาวและแหลมคมที่สามารถใช้โจมตีศัตรูได้ ช้างศึกคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์มักถูกประดับประดาอย่างโอ่อ่าและสวมเกราะแน่นหนาในการออกศึก
ช้างกับพระพุทธศาสนา
ช้างยังมีบทบาทสำคัญในศาสนาของประเทศไทยซึ่งมีศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นศาสนาหลักประจำชาติ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของช้างในพุทธประวัติและพุทธชาดกซึ่งถือช้างเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี ตำนานพุทธประวัติได้กล่าวไว้ว่า พระนางสิริมหามายาซึ่งเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้าทรงพระสุบินว่า เห็นช้างเผือกมาถวายดอกบัวก่อนประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ ตำนานดังกล่าวทำให้ช้างได้กลายเป็นสัตว์ที่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ ช้างยังมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูโดยมีเทพที่หลายคนยกย่องบูชา เช่น พระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพผู้มีเศียรเป็นช้างที่ให้โชคลาภและความสำเร็จ และช้างเอราวัณหรือไอราวตา ซึ่งเป็นช้างเผือกที่มีสามเศียรเป็นพาหนะของพระอินทร์ โดยเชื่อว่าจะนำพรมาให้
การใช้ช้างสำหรับแรงงานและเป็นพาหนะในการคมนาคม
นอกเหนือจากการเป็นสัญลักษณ์ของพระราชวงศ์และตัวแทนของศาสนาแล้ว ช้างยังเป็นประโยชน์สำหรับชาวไทยเป็นอย่างมากเนื่องจากช้างมีขนาดใหญ่และแข็งแรง โดยตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ช้างถูกใช้สำหรับงานในครัวเรือนและถือเป็นแรงงานสำคัญในการเกษตรกรรมและงานก่อสร้าง เช่น การใช้ช้างลากคันไถในการเพาะปลูก การบรรทุกสินค้าจำนวนมาก และการลากไม้ซุงในอุตสาหกรรมป่าไม้ นอกจากนี้ ช้างยังเป็นพาหนะหลักในการขนส่งและคมนาคมในประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ โดยต่อมา การใช้งานของช้างได้ลดลงเมื่อมีการเริ่มใช้ยานยนต์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19
เวลาทำการ: วันจันทร์ - วันศุกร์ 09:00 - 11:45 น. และ 13:00 - 15:45 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)