สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและปกป้องช้าง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและปกป้องช้าง

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 ก.พ. 2566

| 5,000 view

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระนามเลื่องลือในเรื่องพระราชกรณียกิจที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของราษฎร ทั้งยังทรงตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยิ่งยวด ทำให้เกิดพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและปกป้องสัตว์ป่าเป็นจำนวนมาก ความมุ่งมั่นและการอุทิศพระองค์ในพระราชกรณียกิจเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก โดย World Wildlife Fund (WWF) ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่องานด้านการคุ้มครองสัตว์ป่าแด่พระองค์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522

ต่อมา WWF ได้ร่วมกับรัฐบาลไทยและสมาคมคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย จัดงาน “Save Our Wildlife” ในกรุงเทพมหานครเพื่อระดมทุนให้แก่โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงและและเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ ซึ่งขณะนั้นเป็นองค์ประธาน UK WWF ทรงเป็นประธานในงานครั้งนี้ โดยเงินทุนที่ได้นำไปใช้ในการก่อตั้งมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย โดยสมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับเป็นองค์อุปถัมภ์ มูลนิธิจึงได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2526

โครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มโครงการปล่อยช้างคืนสู่ธรรมชาติเพื่อให้ช้างเลี้ยงและช้างป่าที่ถูกกักขังได้มีทางเลือกให้ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อาศัยอย่างกลมกลืนในป่าและธรรมชาติ โดยทรงริเริ่มกระบวนการปล่อยช้างสู่ป่าครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2540 ด้วยการปล่อยช้างชุดแรกคืนสู่ป่า จำนวน 3 เชือก ได้แก่ พังบัวลอย พังบุญมี และพังมาลัย และทรงปล่อยครั้งที่สองเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 ได้แก่ พังสังวาลย์ และพังคำน้อย เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 ทรงปล่อยพังคำมูล และพลายสอง และเสด็จฯ เป็นองค์ประธานปล่อยช้างอีกจำนวน 16 เชือก เมื่อปี พ.ศ. 2543 นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2544 สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งองค์ประธาน WWF ประเทศเดนมาร์ก ได้เสด็จฯ เยือนไทยและทรงปล่อยช้างเพิ่มอีกหนึ่งเชือก

 

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2545 มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการภายใต้พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยได้รับการสนับสนุนจาก WWF โดยภารกิจหลักของมูลนิธิคือการปล่อยช้างที่ถูกกักขังให้กลับคืนสู่ป่าและการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของป่าและทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังมีการวิจัยและให้ความรู้เกี่ยวกับช้างเอเชีย ตลอดจนการส่งเสริมการจัดการความอยู่รอดในระยะยาวของช้างในประเทศไทยและทั่วโลก

คำบรรยายใต้ภาพ: ระหว่างการเยือนศูนย์อนุรักษ์ช้างใกล้จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 เจ้าชายเฟรเดอริก มกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก ทรงให้อาหารช้างในขณะที่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 และเจ้าชายเฮนริก พระราชสวามี ทรงทอดพระเนตร พระราชวงศ์เดนมาร์กเสด็จเยือนประเทศไทยเป็นเวลาหกวันในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระราชวงศ์ไทย โดยพระราชวงศ์เดนมาร์กได้ทรงเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองและทรงได้รับของขวัญพร้อมทั้งชมการแสดงรำไทย

 

ñÏ│¬¡Ê_1-3_RUAA80200_1_