มื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๖ นางศิริลักษณ์ นิยม เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน และนายธีรกุล นิยม คู่สมรส เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่ทายาทของพระยาชลยุทธโยธินทร์และครอบครัว ประกอบด้วยนาย Jørgen du Plessis de Richelieu (เหลน) และภรรยา นาง Christine du Plessis de Richelieu นาย Andreas Hastrup (เหลน) ภรรยา นาง Louise Birk Hastrup และบุตรสาว น.ส. Ms. Emilie Hastrup พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ
พระยาชลยุทธโยธินทร์นามเดิม อองเดร ดู เปลซิ เดอ ริเชอลิเออ (André du Plessis de Richelieu) หรือกัปตันริเชอลิเออ ชาวเดนมาร์ก เข้ามาถวายตัวรับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ เป็นเวลานานถึง ๒๕ ปี เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าที่จังหวัดสมุทรปราการเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นผู้วางรากฐานก่อตั้งหน่วยนาวิกโยธินและกองทัพเรือสยามในสมัยนั้น ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการการรบของไทยในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ โดยเป็นผู้วางแผนรับมือกับการรุกรานของกองทัพเรือฝรั่งเศส และบัญชาการรบ ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้าปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ หรือเมื่อ ๑๓๐ ปีที่แล้ว จนได้รับพระราชทานยศเป็นพลเรือโทมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารเรือคนแรกของไทย
ในระหว่างรับราชการ พระยาชลยุทธโยธินทร์ ยังได้ร่วมกับ ฮันส์ นีลล์ แอนเดอร์ซัน (H.N. Andersen) ผู้ก่อตั้งบริษัท East Asiatic Company ชาวเดนมาร์ก ดำเนินกิจการรถรางสายแรกของสยามและเอเชีย (บางคอแหลม-ศาลหลักเมือง) ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ และก่อตั้งบริษัทรถไฟปากน้ำรับสัมปทานให้บริการทางรถไฟสายแรกของไทย (หัวลำโพง-ปากน้ำ) ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ รวมถึงการก่อตั้งบริษัทไฟฟ้าสยามในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ทำการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วไป
พระยาชลยุทธโยธินทร์ถือเป็นปูชนียบุคคลชาวเดนมาร์กที่รับราชการในราชสำนักสยามจนได้รับความความไว้วางพระราชหฤทัยจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในราชการเพื่อปกป้องผลประโยชน์และอธิปไตยของสยามในยุคนั้น ตลอดจนเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อการพัฒนาประเทศสยามให้ทันสมัยในหลายด้าน อันเป็นรากฐานของความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับเดนมาร์กมาจนถึงปัจจุบัน