เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 นางศิริลักษณ์ นิยม เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปเฮเกน ได้เข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับนาง Lina Gandløse Hansen รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์กด้านการค้าและความยั่งยืน ณ กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก เพื่อขอรับการสนับสนุนให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo 2028 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีนาย Torsten Andersen รองอธิบดีของหน่วยงาน Danish Business Authority ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ธุรกิจและการเงินเข้าร่วมด้วย
เอกอัครราชทูตฯ ได้นำเสนอถึงศักยภาพของจังหวัดภูเก็ตที่ไม่เพียงแต่มีชื่อเสียงด้านการมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม แต่ยังเป็นศูนย์กลางและจุดหมายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ระดับโลกที่ทำให้ภูเก็ตมีความเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นสถานที่จัดงานเอ๊กซ์โปภายใต้แนวคิดความยั่งยืนและสุขภาพที่ดี โดยมีกำหนดจัดงานในช่วงระหว่างวันที่ 20 มีนาคม – 17 มิถุนายน พ.ศ. 2571 และหากไทยได้รับเลือกจะถือเป็นงานเอ๊กซ์โประดับโลกครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ในพื้นที่จัดงานกว่า 140 ไร่ ทางตอนเหนือของเกาะภูเก็ตจะล้อมรอบไปด้วยป่าไม้ และมีการออกแบบอาคารต่าง ๆ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน โดยจะใช้เนื้อที่เพียงร้อยละ 20 ของพื้นที่จัดงานทั้งหมด ในขณะที่ระบบนิเวศน์ดั้งเดิมจะได้รับการอนุรักษ์ไว้มากที่สุด ภายในงานจะมีเส้นทางเรียนรู้ทางธรรมชาติด้านการจัดการน้ำ พลังงาน การผลิตอาหาร พืชสมุนไพร และระบบชีวนิเวศน์ ตลอดจนอาคารศาลาสำหรับการนำเสนอนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ นวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ศาลาจัดแสดงนิทรรศการ การแสดงและศิลปะ ตลอดจนพื้นที่สำหรับการพบปะเจรจาธุรกิจระหว่างบริษัทจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสดีสำหรับเดนมาร์กที่เป็นผู้ระดับโลกในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสีเขียวในการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และขยายความร่วมมือด้านธุรกิจกับคู่ค้าต่างๆ ในงานเอ๊กซ์โปที่ จ. ภูเก็ต ซึ่งเป็นประตูสู่ตลาดอาเซียนที่มีผู้บริโภคกว่า 620 ล้านคน
ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้มอบของที่ระลึกในการรณรงค์หาเสียงของไทยให้แก่ฝ่ายเดนมาร์ก ได้แก่ แบบจำลองพาวิลเลียนรูป “เต่ามะเฟือง” อันเป็นตัวอย่างของนวัตกรรมด้านการออกแบบที่อิงกับธรรมชาติของท้องถิ่น โดยเต่ามะเฟืองถือเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่พบได้ที่เกาะภูเก็ต และเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่ยืนยาวสอดคล้องกับธีมการจัดงานด้านสุขภาพ อีกทั้งยังสะท้อนถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์อย่างยั่งยืนของชายหาดภูเก็ตด้วย