การฉลองครบรอบ ๖๐ ปีของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก สัญลักษณ์แห่งความร่วมมือทางวิชาการที่แข็งแกร่งระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก

การฉลองครบรอบ ๖๐ ปีของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก สัญลักษณ์แห่งความร่วมมือทางวิชาการที่แข็งแกร่งระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเดนมาร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ก.พ. 2566

| 2,836 view

จุดกำเนิดของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กเริ่มมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร   มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ภายหลังการเสด็จฯ เยือนเดนมาร์กเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เมื่อทรงเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรกิจการฟาร์มโคนมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมของรัฐบาลเดนมาร์กที่ฟาร์ม "Favrholm" และ "Trollesminde" เมือง Hillerød ด้วยทรงสนพระทัยในเรื่องกิจการฟาร์มโคนมเป็นอย่างมากจึงมีพระราชดำริให้พัฒนากิจการโคนมในประเทศไทยเพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่เกษตรกรไทยและสร้างโภชนาการที่ดีแก่ประชากรไทย

พระราชปณิธานดังกล่าวได้ถูกสานต่อโดย ดร. นิลส์ กุนนาร์ ซอนเดอร์กอร์ด นักปฐพีวิทยาชาวเดนมาร์กผู้ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่อยู่เบื้องหลังในการบุกเบิกการพัฒนาฟาร์มโคนมในประเทศไทย โดยนายซอนเดอร์กอร์ดได้เริ่มดำเนินการสร้างโครงการฟาร์มโคนมกับรัฐบาลเดนมาร์กจนนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยและเดนมาร์กเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ และได้มีการก่อตั้งฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการทำฟาร์มเลี้ยงโคนมในประเทศไทย

ทั้งนี้ เหตุการณ์สำคัญที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของฟาร์มโคนมไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๙ และสมเด็จพระราชินีอินกริดแห่งเดนมาร์ก ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานใน พิธีเปิดฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก ในระหว่างการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างการทางการ

หลังจากการก่อตั้งฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ทางการเดนมาร์กได้ส่งพันธุ์โคนมมายังประเทศไทย จำนวน ๓๙ ตัว และต่อมาอีกจำนวน ๕๐ ตัว เมื่อดดปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อใช้ในการเลี้ยงและผลิตน้ำนมที่ฟาร์มโดยสายพันธุ์วัวดังกล่าวมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลแดงและมีขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม พันธุ์โคนมเดนมาร์กไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมใหม่ได้ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจึงได้นำโคนมท้องถิ่นมาผสมพันธุ์กับโคนมเดนมาร์กทำให้เกิดโคพันธุ์ใหม่ที่สามารถอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมในไทยและผลิตนมได้ ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กเป็นผู้ผลิตนมตรา ไทย-เดนมาร์ก และการผสมผสานระหว่างโคนมไทยและเดนมาร์กเข้าด้วยกันเป็นที่มาของโลโก้โคนมสีแดงสองตัวบนกล่องนม

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์กได้ถูกส่งมอบให้กับรัฐบาลไทยและเปลี่ยนชื่อเป็น องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) โดยปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์กยังคงเป็นหนึ่งในตราสินค้านมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศไทย โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๔๕ ของผลิตภัณฑ์นมในประเทศ นอกจากนี้ อ.ส.ค. ยังเดินหน้าปรับปรุงตลาดผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ก ให้มีการพัฒนาเพื่อดึงดูดและขยายกลุ่มผู้บริโภคให้กว้างขึ้น โดยพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น โยเกิร์ต โยเกิร์ตพร้อมดื่ม นมปรุงแต่งอัดเม็ด ไอศกรีม และน้ำดื่ม เป็นต้น กว่า ๖ ทศวรรษที่ผ่านมา กิจการฟาร์มโคนมภายใต้การริเริ่มของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ได้สร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชากรไทยมากกว่า ๒๖,๐๐๐ ครัวเรือน รวมทั้งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์นมมากกว่า ๖๐ ล้านบาทต่อปี

โครงการฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยกับเดนมาร์ก โดยนมไทย-เดนมาร์กถือเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่ยาวนานและเป็นรูปธรรมจวบจนถึงปัจจุบัน ความร่วมมือที่แข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมนมระหว่างไทยและเดนมาร์กได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้เข้าสู่บทบาทใหม่ด้วยการลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านวิชาการโคนมไทย-เดนมาร์ก ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการทำฟาร์มโคนมอย่างชาญฉลาดและยั่งยืนผ่านการจัดการฟาร์มโคนมที่ทันสมัยและการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อการผลิตนมในประเทศไทยที่ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

roll_up_Thai_denmark

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ