โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์

โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ก.พ. 2566

| 1,381 view

เมื่อโลกได้พัฒนาเข้าสู่ความทันสมัย การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่าจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากต้องมีการใช้ป่าไม้และทรัพยากรอื่น ๆ มากขึ้นเพื่อให้ทันกับการเจริญเติบโตของเมือง สัตว์ป่ามากมายต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งจากการขยายตัวของความเจริญทางวัตถุและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เข่น การสร้างทางหลวงและรีสอร์ตใหม่จำนวนมาก สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นเช่นนี้มาช้านาน โดยเฉพาะต่อช้างป่าแถบภาคตะวันออกของไทยซึ่งความจำกัดของแหล่งอาหารได้บีบบังคับให้ช้างป่ารุกล้ำเข้าไปในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเพื่อหาอาหารและทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับสัตว์ป่าซึ่งควรจะอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลได้หากแหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารของสัตว์ป่าเหล่านั้นไม่ได้ถูกทำลาย

จุดเริ่มต้นของโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์มาจากความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ที่ทรงมีต่อประชาชนเมื่อทรงรับทราบถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับช้างป่าและวิถีชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากช้างป่าได้ออกจากป่ามารุกรานและทำลายพื้นที่เพาะปลูกรวมถึงทรัพย์สิน โดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และสระแก้ว เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงมีการริเริ่มโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2562 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับโครงการไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ฯ ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการ

ชื่อโครงการ “พัชรสุธาคชานุรักษ์” มีความหมายว่า “น้ำทิพย์รักษาช้างให้แข็งแกร่งยืนยงดุจเพชร” โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความสำคัญถึงสวัสดิภาพทั้งของช้างป่าและมนุษย์เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล วัตถุประสงค์หลักอีกประการคือการสร้างสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ทั้งชุมชนท้องถิ่นและสัตว์ป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติโดยการค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่สามารถใช้งานได้ในระยะยาวและยั่งยืน

“โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ได้สืบสานและต่อยอดแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างป่าและประชาชน ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูป่าไม้และปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกของประเทศไทย ทั้งนี้ พื้นที่เหล่านี้ยังอุดมไปด้วยศูนย์อนุรักษ์สัตว์ป่าและเขตอุทยานแห่งชาติอีกด้วย

โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ได้จดทะเบียนก่อตั้งเป็น “มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2564 โดยมูลนิธิมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ ดูแล และส่งเสริมความสำคัญของช้างป่า ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างคนกับช้าง ดึงดูดช้างป่าที่เคยออกไปหากินและทำลายพืชผลทางการเกษตรของประชาชนที่อยู่นอกเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้กลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่ป่าและกลับคืนสู่ป่าอนุรักษ์ต่อไป โดยมีชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานราชการ หน่วยงานภาคเอกชน และองค์กรต่าง ๆ ร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ในการดำเนินงานโครงการฯ ในบริเวณพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือป่าที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของช้างป่าและสัตว์อื่นๆ ส่วนที่สองคือพื้นที่แนวกันชนที่เปรียบเสมือนจุดพักช้างโดยเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่อาศัยชั่วคราวของช้างป่าและเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ช้างบุกรุกเข้าไปในเขตชุมชน และส่วนสุดท้ายคือพื้นที่ชุมชนท้องถิ่น

ในการดำเนินงานสร้างพื้นที่อนุรักษ์ให้เป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของช้างป่าและสัตว์ป่าอื่น ๆ นั้น ระหว่างปี พ.ศ. 2563 - พ.ศ 2564 ได้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำ 30 แห่ง โดยมีปริมาณกักเก็บรวม 1,142,188 ลูกบาศก์เมตร เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำสำหรับสัตว์ ในการฟื้นฟูและเติมเต็มแหล่งอาหารสัตว์ ทางมูลนิธิได้มีการสร้างทุ่งหญ้าประมาณ 4,174 ไร่ มีการปลูกพืชสำหรับเป็นอาหารและไม้ดอกที่รับประทานได้ประมาณ 2,500 ไร่ และจัดทำโป่งเทียม 150 แห่ง รอบบริเวณดังกล่าว

ทั้งนี้ พื้นที่แนวกันชนช้างมีแหล่งน้ำและแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์สำหรับช้างป่าและสัตว์ป่าอื่น ๆ  นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบกล้องดักถ่ายช้างป่าและสัตว์ป่าที่ทันสมัยเพื่อเฝ้าระวังและติดตามกิจกรรมของสัตว์ป่าอีกด้วย โดยเมื่อปี พ.ศ. 2563 พื้นที่กันชนนี้ได้รับการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพแล้วประมาณ 502,400 ตารางเมตร หรือ 314 ไร่

การดำเนินงานในพื้นที่ชุมชนมีการมุ่งเน้นการพัฒนาชุมชน เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและทักษะในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในศักยภาพของชุมชน ตลอดจนการฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อให้เพียงพอสำหรับการบริโภคและการเกษตรเพื่อรักษาวิถีชีวิตที่ยั่งยืน วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกประการคือการสร้างความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติและพฤติกรรมของช้างป่าผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และการฝึกอบรมให้กับประชาชนและอาสาสมัคร เพื่อให้มนุษย์ ช้าง และสัตว์ป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลกับธรรมชาติ

 

ñÏ│¬¡Ê_1-7_RUAA80200_1_