2,501 view

การทำหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport)

กรณีที่หนังสือเดินทางขาดอายุหรือสูญหาย และมีหลักฐานประกอบการขอหนังสือเดินทางครบถ้วน และมีความจำเป็นต้องเดินทางเป็นการเร่งด่วน โดยไม่อาจรอการออกหนังสือเดินทางเล่มใหม่ให้แทนได้ ท่านสามารถติดต่อขอให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ออกหนังสือเดินทางชั่วคราวมีซึ่งมีอายุการใช้งาน 1 ปี โดยหนังสือเดินทางชั่วคราวจะถูกยกเลิกทันทีเมื่อได้รับหนังสือเดินทางฉบับใหม่

อย่างไรก็ดี หนังสือเดินทางชั่วคราวมีข้อจำกัด คือ ไม่มี machine readable bar code และเขียนด้วยลายมือ ซึ่งหากนำไปขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) บางประเทศอาจไม่ยอมรับ และหลายประเทศในยุโรปไม่ยอมให้ผู้ที่หนังสือเดินทางชั่วคราวเข้าประเทศ เนื่องจากไม่มี machine readable bar code ดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ International Civil Aviation Organisation (ICAO) ฉะนั้น ผู้ร้องจะต้องติดต่อสอบถามไปยังสถานทูตของประเทศต่าง ๆ ที่จะเดินทางไป หรือจะไปขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ก่อนเสมอ ว่าสามารถใช้หนังสือเดินทางชั่วคราวได้หรือไม่

เอกสารและหลักฐานที่จะต้องยื่น

  1. แบบฟอร์มคำร้องขอต่ออายุหนังสือเดินทาง จำนวน 1 ชุด |คำร้องขอมีหนังสือเดินทาง| |วิธีกรอกข้อความและลงลายมือชื่อในคำร้อง|
  2. หนังสือเดินทางเล่มเดิม
  3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไทย 
  4. สำเนาตั๋วโดยสารหรือสำเนาการสำรองเที่ยวบิน 1 ชุด
  5. ค่าธรรมเนียม 80 โครนเดนมาร์ก
    – ชำระเป็นด้วย เงินสด (กรุณาเตรียมเงินมาให้พอดี)

เอกสารเพิ่มเติมกรณีหนังสือเดินทางสูญหาย

  1. ใบแจ้งความจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเดนมาร์ก
  2. บันทึกการสอบสวน 1 ชุด (กรณีหนังสือเดินทางสูญหาย) | ดาวน์โหลด |

เอกสารเพิ่มเติมสำหรับผู้เยาว์ (มีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์)

  • จะต้องให้บิดาและมารดา หรือ ผู้มีอำนาจปกครองลงนามยินยอมด้านหลังคำร้อง พร้อมหลักฐานเพิ่มเติมที่ต้องแสดงต่อเจ้าหน้าที่ คือ
    – หนังสือเดินทางของทั้งพ่อและแม่
    – ทะเบียนสมรสของพ่อแม่
  • หากบิดาและมารดาไม่สามารถมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ได้ จะต้องไปลงนามใน “หนังสือมอบอำนาจและให้ความยินยอม”
    (สำหรับการทำหนังสือเดินทางให้ผู้เยาว์) ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ Notary Public เพื่อรับรองลายมือชื่อของบิดาและมารดา [กรณีพำนักอยู่ในกรีนแลนด์ต้องไปลงนามต่อหน้าศาล]
  • ในกรณีที่บิดาและมารดาอยู่ที่ประเทศไทย ทั้งบิดาและมารดาต้องทำ “ หนังสือให้ความยินยอม” ให้บุตรทำหนังสือเดินทาง ผ่านกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ [กรุงเทพฯ] หรือผ่านที่ว่าการอำเภอ [ต่างจังหวัด]
  • กรณีที่บิดามารดาจดทะเบียนหย่าแล้ว ให้ฝ่ายที่มีอำนาจปกครองบุตรเป็นผู้ลงนามในหนังสือยินยอมเพียงฝ่ายเดียว และ จะต้องแสดงหลักฐานทะเบียนหย่า หรือคำสั่งศาลซึ่งระบุว่าเด็กอยู่ในความปกครองของบิดา/มารดาหรือผู้มีอำนาจปกครอง
  • กรณีบิดาหรือมารดาของผู้เยาว์เสียชีวิต จะต้องแสดงหลักฐานใบมรณบัตร

เอกสารเพิ่มเติมตามความจำเป็นแต่ละกรณี 

  1. ใบเปลี่ยนชื่อ/ชื่อสกุล
    – กรณีใช้ชื่อ/ชื่อสกุลใหม่ที่ไม่ตรงกับหนังสือเดินทางฉบับเดิมหรือรายการแก้ไขหนังสือเดินทางที่ปรากฏในหนังสือเดินทางฉบับเดิม
  2. ใบสำคัญการสมรส
    – สตรีที่สมรสแล้วขอเปลี่ยนชื่อสกุล
    – มารดาที่มีชื่อสกุลไม่ตรงกับสูติบัตรของบุตร
  3. ใบสำคัญการหย่า
    – สตรีที่ใช้ชื่อสกุลไม่ตรงกับหนังสือเดินทางฉบับเดิมเนื่องจากหย่า
  4. บันทึกการหย่า
    – ใช้ประกอบการแสดงอำนาจในการปกครองบุตร
  5. หลักฐานการจดทะเบียนรับรองบุตร
    – กรณีผู้เยาว์ใช้ชื่อสกุลของบิดา โดยที่บิดา/มารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส
  6. ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดา/มารดา
    – ผู้เยาว์ที่บิดา/มารดาเป็นคนต่างด้าว

หากผู้ร้องฯ ไม่สามารถแสดงเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น ขอให้แจ้งเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถแสดงเอกสารดังกล่าวฯ พร้อมทั้งแสดงเอกสารอย่างอื่นที่แสดงความเป็นคนไทย เช่น ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ จะพิจารณาอนุโลมเป็นรายกรณี

การยื่นคำร้อง

  1. ทางไปรษณีย์เฉพาะผู้ที่พำนักในกรีนแลนด์ หมู่เกาะฟาโรห์ ประเทศไอซ์แลนด์และลิทัวเนียเท่านั้น
  2. ยื่นคำร้องด้วยตนเองสำหรับผู้ที่พำนักในเดนมาร์ก ในเวลาทำการ 09.00-11.30 น. และ 13.00-16.00 น.
  • ส่งคำร้อง เอกสารและหลักฐานดังกล่าวข้างต้นไปยังสถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมค่าธรรมเนียม 80 โครนเดนมาร์ก ชำระเป็นเงินสดเท่านั้น
  • หากประสงค์ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดส่งกลับให้ทางไปรษณีย์ โปรดแนบซอง จ่าหน้าถึงตัวท่านเองให้ชัดเจน พร้อม ติดแสตมป์สำหรับค่าไปรษณีย์ลงทะเบียน ให้เพียงพอสำหรับน้ำหนักหนังสือเดินทาง และเอกสารที่ต้องการให้ส่งคืน (หากมี) ตามอัตราของสำนักงานไปรษณีย์เดนมาร์ก (ประมาณ 150 โครนเดนมาร์กสำหรับภายในประเทศเดนมาร์ก) หากชำระค่าไปรษณีย์ไม่ครบถ้วน สถานเอกอัครราชทูตฯ จะไม่สามารถส่งหนังสือเดินทางกลับให้กับท่านได้

หมายเหตุ: สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับผิดชอบกรณีเอกสารที่ส่งทางไปรษณีย์ชำรุดหรือสูญหาย ไม่ว่ากรณีใด

วิธีกรอกข้อความและลงลายมือชื่อในคำร้อง

  • กรอกข้อความเป็นภาษาไทย และลงลายมือชื่อในคำร้องให้ครบถ้วนทั้ง 2 หน้า ด้วยปากกาสีดำหรือสีน้ำเงิน
  • ลงลายมือชื่อในคำร้อง กรณีที่ลงลายมือชื่อไม่ได้ให้ พิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือซ้ายด้วยหมึกสีน้ำเงิน แทน

หน้าที่ 1 คำร้องขอออกหนังสือเดินทาง

  • กรอกรายละเอียดในคำร้องให้ถูกต้องและครบถ้วน หากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดแตกต่างไปจาก ที่ระบุในหนังสือเดินทาง จะต้องดำเนินการขอแก้ไขก่อน
  • บุคคลใกล้ชิดที่อ้างอิงได้ หมายถึง บุคคลที่อยู่ในประเทศไทย 1 รายและที่เดนมาร์ก 1 ราย
  • ลงลายมือชื่อ (เป็นลายเซ็น) ในช่องมุมขวาด้านบนทั้ง 2 ช่อง
  • ลงลายมือชื่อใต้รูปถ่ายด้านล่าง (หากลงไม่ได้ให้พิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือซ้ายแทน)

หน้าที่ 2 สัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายของผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ

  • กรอกที่อยู่ในต่างประเทศ
  • กรณีผู้เดินทาง (ผู้ร้องขอออกหนังสือเดินทาง) เป็นผู้เยาว์ (อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์) หรือเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือ
  • คนไร้ความสามารถ ต้องให้ผู้มีอำนาจให้ความยินยอมตามกฎหมาย ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในช่อง “ ผู้ให้ความยินยอม” ด้วย
  • สำหรับผู้เยาว์ ผู้ให้ความยินยอมกรณีทั่วไปได้แก่ บิดาและมารดา

| ดาวน์โหลดตัวอย่าง |

*****************************

กรุณาติดต่อขอนัดก่อนเพื่อความสะดวก และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน (ฝ่ายกงสุล)
อีเมล์ [email protected]