สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน จัดสัมมนาทางธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน จัดสัมมนาทางธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy)
วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ก.ย. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ต.ค. 2565
| 695 view
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ร่วมกับ Danish-Thai Business Network (Dan Thai Net) ได้จัดสัมมนาทางธุรกิจ “The Prime Gateway to Asia”: Thailand’s Investment Opportunities in Bio-Circular-Green Model” ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยนางศิริลักษณ์ นิยม เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ได้กล่าวเปิดงานสัมมนาซึ่งได้แจ้งให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ทราบถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยภายหลังการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-๑๙ และความสำคัญของไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค จากนั้นวิทยากรในงานได้ร่วมบรรยายประกอบด้วย 1) นางนงนุช เพชรรัตน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำออสเตรียและเยอรมนี และที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศของสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาล่าสุดด้านโครงสร้างพื้นฐานและคลัสเตอร์เศรษฐกิจหมุนเวียนของอีอีซีเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศพร้อมสิทธิประโยชน์พิเศษทางด้านธุรกิจและการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 2) น.ส. ณัฐรีย์กร เสฏฐสุภัค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ณ กรุงสตอกโฮล์ม ได้กล่าวถึงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย และประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทั้งในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษีที่นักลงทุนจะได้รับ 3) นาย Claus Ramussen อดีตรองประธานฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท Pandora ประเทศไทย จำกัด บรรยายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยในมุมมองของนายจ้าง และ 4) นาย Michael Bremerskov Jensen ผู้อำนวยการการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าเดนมาร์ก กล่าวถึงภาพรวมการพัฒนาและการเติบโตของธุรกิจเดนมาร์กในประเทศไทยและศักยภาพความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ
หลังจากนั้น นาย Stiig Waever ผู้ก่อตั้ง Danish-Thai Business Network ได้กล่าวแนะนำและเปิดตัวเครือข่ายฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นเครือข่ายทางการค้าและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการเดนมาร์กที่มีความสนใจที่จะประกอบธุรกิจและลงทุนในประเทศไทย ตลอดจนแบ่งปันความรู้และประสบการณ์และให้คำปรึกษาในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยเฉพาะกับนักธุรกิจ SMEs โดยภายหลังการสัมมนาครั้งนี้เครือข่ายฯ มีแผนจะจัดทริปพาคณะนักธุรกิจเดนมาร์กที่สนใจลู่ทางการลงทุนในประเทศไทยไปเยือนประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม 2566
งานสัมมนามีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน จากหลายสาขาธุรกิจ อาทิ ด้านอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร อุตสาหกรรมเหมืองแร่และซีเมนต์ ด้านเทคโนโลยีน้ำ เทคโนโลยีสำหรับรถยนต์ เทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง เป็นต้น รวมถึงมีผู้แทนจากสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจของเดนมาร์ก ได้แก่ วิทยาลัยธุรกิจซีแลนด์ (Zealand Business College International -ZBC) โรงเรียน Copenhagen Business School และศูนย์การทูตวิทยาศาสตร์และเศรษฐกิจ (Center for Science & Commercial Diplomacy-CSCD) และผู้แทนสภาว่าการกรุงโคเปนเฮเกนเข้าร่วมด้วย ภายหลังการสัมมนา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้เข้าร่วมงานด้วย