ผู้แทนโครงการส่งเสริมศักยภาพสตรีไทยในสวีเดนและมูลนิธิพิทักษ์สตรี เข้าเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน

ผู้แทนโครงการส่งเสริมศักยภาพสตรีไทยในสวีเดนและมูลนิธิพิทักษ์สตรี เข้าเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 ส.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 2 ส.ค. 2565

| 377 view

เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นางปนัดดา ชั่งมณี ผู้จัดการโครงการส่งเสริมศักยภาพสตรีไทยในสวีเดน หรือ ThaiWISE (Thai Women in Sweden Empowerment Project) และนางธมนพัชร์ คูเปอร์ไรเดอร์ ผู้ประสานงานฝ่ายต่างประเทศ มูลนิธิพิทักษ์สตรี หรือ Alliance Anti Traffic (ATT) ได้เข้าเยี่ยมคารวะนางศิริลักษณ์ นิยม เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อแนะนำโครงการของ ThaiWISE ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมือง Malmo ทางตอนใต้ของสวีเดน ซึ่งให้ความรู้และช่วยเหลือหญิงไทยที่มาตั้งรกรากในสวีเดน รวมถึงการยกระดับร้านนวดไทยทั้งด้านการบริหารจัดการธุรกิจและการฝึกอบรมวิชาชีพนวดแผนไทยให้ได้มาตรฐาน ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่าโครงการฯ สามารถเป็นประโยชน์กับคนไทยในเดนมาร์กได้ด้วย เพราะขณะนี้มีกลุ่มสตรีไทยในเดนมาร์กรวมตัวกันตั้งเป็นสมาคมเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และยกระดับมาตรฐานร้านนวดไทยเช่นเดียวกัน จึงน่าจะสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของโครงการ ThaiWISE ได้ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมจะประสานให้กลุ่มคนไทยในเดนมาร์กได้พบหารือกับโครงการ ThaiWISE รวมถึงการเดินทางไปศึกษาดูงานของโครงการฯ ที่สำนักงานเมือง Malmo ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงโคเปนเฮเกนต่อไป

 

นอกจากนี้  นางปนัดดาฯ และนางธมนพัชร์ฯ ยังได้หารือกับเอกอัครราชทูตฯ เกี่ยวกับโครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลการจ้างงานในธุรกิจอาหารทะเล หรือ แฟร์ฟิช (Fostering Accountability in Recruitment for Fishery Workers – FAIR Fish) ของ PLAN International ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน (NGO) ที่มุ่งส่งเสริมสิทธิเด็กและความเสมอภาพของสตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ในภาคประมงและอาหารทะเลของไทย ให้มีแนวปฏิบัติที่ดีในการใช้แรงงานที่ได้มาตรฐานสากล โดยโครงการ FAIR Fish  มีแผนจะจัดสัมมนาออนไลน์ระหว่างบริษัทยุโรปที่นำเข้าสินค้าประมงจากไทยกับบริษัท SMEs ของไทยที่ส่งออกสินค้าประมง เพื่อให้บริษัทไทยทราบถึงกฎระเบียบด้านมาตรฐานแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าประมงที่จะส่งออกมายังยุโรป ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลว่า ในช่วง ๑๐ ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการแก้ไขกฎหมาย ปรับปรุงกฎระเบียบและออกมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานภาคประมงในหลายด้าน ในขณะที่ภาคธุรกิจประมงเองก็ได้มีความตื่นตัวและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยได้มีการจัดทำแนวปฎิบัติการใช้แรงงานที่ดีในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย และเห็นว่าการสัมมนาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความตระหนักรู้เพิ่มขึ้นให้แก่ผู้ส่งออกรายย่อยของไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ต่อไป             

 

 

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ