เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๘ นายภูวิศ วิสารทสกุล อุปทูตฯ พร้อมด้วยนางอภิชญา วิสารทสกุล ภริยา นำข้าราชการและคู่สมรส ตลอดจนเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ไปเยี่ยมช้างไทย ณ สวนสัตว์กรุงโคเปนเฮเกน เพื่อเยี่ยมเยียนชีวิตความเป็นอยู่ของช้างไทย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ไทย-เดนมาร์ก โดยในปัจจุบันสวนสัตว์ฯ มีช้างไทยอยู่ ๓ เชือก ได้แก่ พังกันเกรา (อายุ ๒๖ ปี) พังสุรินทร์ (อายุ ๒๕ ปี) และพังมูล (อายุ ๔ ปี เกิดที่สวนสัตว์กรุงโคเปนเฮเกนเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓) รวมทั้งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-เดนมาร์ก ประวัติความเป็นมาของช้างไทยในเดนมาร์ก การดำเนินงานของสวนสัตว์ฯ และร่วมกันให้อาหารช้างด้วย
นาง Pernille Mehl CEO ของสวนสัตว์ฯ และนาย Mads Bertelsen ผู้อำนวยการด้านสัตววิทยาของสวนสัตว์ฯ ได้ให้การต้อนรับคณะฯ พร้อมทั้งได้บรรยายเกี่ยวกับประสบการณ์การรักษาพังมูลที่เคยติดเชื้อเฮอร์ปีไวรัส (EEHV) ซึ่งทางสวนสัตว์ยินดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีด้านสัตวบาลกับไทย รวมถึงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส EEHV ในช้าง
ในโอกาสดังกล่าว อุปทูตฯ ได้แสดงความขอบคุณสวนสัตว์ฯ ที่ดูแลช้างไทยเป็นอย่างดีตลอด ๖๒ ปีที่ผ่านมา และเป็นไปตามกฎระเบียบและข้อบังคับของทั้งเดนมาร์กและอียูในการดูแลชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งได้รักษาพังมูลให้มีชีวิตรอดจากการติดเชื้อ EEHV และยินดีที่สวนสัตว์ฯ มีความร่วมมือด้านสัตวบาลกับไทย นอกจากนี้ ยังได้แจ้งสวนสัตว์ฯ ว่า วันที่ ๑๓ มีนาคมของทุกปี รัฐบาลไทยได้กำหนดให้เป็น “วันช้างไทย” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของช้างซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติของไทย และพร้อมใจกันอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งทางสวนสัตว์ฯ เห็นว่าเป็นวันที่เหมาะจะนำไปพิจารณาจัดทำแผนกิจกรรมเกี่ยวกับช้างไทยในสวนสัตว์ฯ ต่อไป
ช้างเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยกับเดนมาร์กทั้งในระดับราชวงศ์และระดับประชาชนมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานช้างจำนวน ๒ เชือก ได้แก่ พลายเชียงใหม่และพังบัวผา ให้แก่สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริก ที่ ๙ แห่งเดนมาร์ก และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ได้พระราชทานช้างจำนวน ๒ เชือก ได้แก่ พลายต้นสักและพังกันเกรา ให้แก่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ ๒ ในโอกาสเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งในโอกาสดังกล่าว ประชาชนชาวสุรินทร์ได้มอบช้างอีก ๑ เชือก คือ พังสุรินทร์ เป็นของขวัญให้แก่ประชาชนชาวเดนมาร์กด้วย
ทั้งนี้ พลายเชียงใหม่ได้ล้ม (เสียชีวิต) เมื่อปี ๒๕๖๐ อายุรวม ๕๘ ปี ได้รับการขนานนามให้เป็น “grandfather of elephants” ในยุโรป เนื่องจากเป็นพ่อพันธุ์ให้กำเนิดช้างรุ่นลูกหลานรวมหลายสิบเชือกกระจายอยู่ตามสวนสัตว์ต่าง ๆ ในยุโรป ในขณะที่พังบัวผาล้มเมื่อปี ๒๕๓๙ ส่วนพลายต้นสักได้ถูกยืมตัวไปเป็นพ่อพันธุ์ที่สวนสัตว์ที่สวีเดน ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘