เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อแสดงความยินดีกับคณะสถาปนิกไทย ในโอกาสที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการออกแบบสวนป่าเบญจกิติในงานประชุมสถาปนิกระดับโลก The UIA World Congress of Architects ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงโคเปนเฮเกน ระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2566

เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อแสดงความยินดีกับคณะสถาปนิกไทย ในโอกาสที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการออกแบบสวนป่าเบญจกิติในงานประชุมสถาปนิกระดับโลก The UIA World Congress of Architects ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงโคเปนเฮเกน ระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2566

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ก.ค. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 10 ก.ค. 2566

| 476 view
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นางศิริลักษณ์ นิยม เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำคณะสถาปนิกไทยรวม 25 คน ซึ่งได้เข้าร่วมการประชุม The UIA World Congress of Architects ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดโดยสหภาพสถาปนิกนานานาชาติ (The International Union of Architects หรือ Union Internationale des Architectes :UIA) ณ กรุงโคเปนเฮเกน ระหว่างวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2566 ในฐานะที่โคเปนเฮเกนได้รับเลือกเป็นเมืองหลวงด้านสถาปัตยกรรมของโลกในปี 2566
 
คณะสถาปนิกไทยประกอบด้วยนายชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ นายชุตยาเวศ สินธุพันธ์ุ และผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ อุปนายกสมาคมฯ อาจารย์ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ คณะบดีสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ และคณะสถาปนิกจากสถาบันอาศรมศิลป์ รวมถึงนักเรียนไทยสาขาสถาปัตยกรรมและสถาปนิกไทยที่เรียนและทำงานในกรุงโคเปนเฮเกน โดยมีสถาปนิกฝ่ายเดนมาร์กที่เข้าร่วมงานเลี้ยงด้วย ได้แก่ นาย Lars Autrup นายกสมาคมสถาปนิกของเดนมาร์ก นาย Jakob Brandtberg Knudsen อธิบการบดีคณะสถาปัตยกรรม ศาสตร์ Royal Danish Academy นาง Eva Seo-Andersen สถาปนิกจากบริษัท BIG - Bjarke Ingels Group นาง Lisbeth Philipsen สถาปนิกจากบริษัท Gehl Architects และนาย Lorenz von Seidlein อาจารย์จาก Mahidol Oxford Tropical Medicine Research Unit (MORU) ซึ่งทำโครงการด้านสถาปัตยกรรมเพื่อสุขภาพในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
 
ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานเลี้ยง และแสดงความยินดีกับสถาบันอาศรมศิลป์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการออกแบบสวนป่าเบญจกิติในรายการ UIA Friendly and Inclusive Spaces Awards ในหมวด Public and Open Space ซึ่งได้รับคะแนนจากคณะกรรมการผู้ตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยมีนางสาวชัชนิล ซัง สถาปนิกด้านภูมิสถาปัตย์จากสถาบันอาศรมศิลป์ ผู้ออกแบบสวนป่าเบญจกิติ เป็นผู้นำเสนอผลงานต่อที่ประชุมและขึ้นรับรางวัลจากนาย José Luis Cortés Delgado ประธาน UIA ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพระดับโลกของสถาปนิกไทย ที่พร้อมที่จะทำงานกับสถาปนิกทั่วโลกในการสร้างความยั่งยืนเพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของมวลมนุษย์ หลังจากนั้นนาย Lars Autrup นายกสมาคมสถาปนิกผู้จัดงาน The UIA World Congress ได้กล่าวแสดงความยินดีกับสถาบันอาศรมศิลป์ที่ได้รับรางวัล และยินดีที่ได้พบกับคณะสถาปนิกไทยที่มาร่วมการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนภายใต้หัวข้อ “อนาคตที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งได้มีการบรรยายและหารือเกี่ยวกับวิธีทำให้สถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การออกแบบเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคม
 
การจัดงานเลี้ยงครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการฉลองรางวัลของสถาปนิกไทยแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างสถาปนิกไทยและเดนมาร์ก โดยระหว่างการทานอาหารทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวปฏิบัติที่ดีในด้านสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ทั้งสองฝ่ายสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันและนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต
สหภาพสถาปนิกนานาชาติหรือ UIA เป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดของสถาปนิกโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2491 ปัจจุบันมีสมาคมสถาปนิกจากกว่า 100 ประเทศเป็นสมาชิก รวมถึงสมาคมสถาปนิกสยามของไทย โดยได้มีการฉลองครบรอบการก่อตั้ง 75 ปีในปีนี้ที่กรุงโคเปนเฮเกน โดยถือเป็นงานการประชุมสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 6,000 คน จาก 135 ประเทศ และมีสถาปนิกที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลกเข้าร่วมบรรยายกว่า 400 คน UIA World Congress มีการจัดประชุม 3 ปีครั้ง โดยการประชุมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่นครบาเซโลนา ประเทศสเปน ในปี พ.ศ. 2569

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ