เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ "Imprinted Heritage: The Art of Thailand’s Lanna Lantern" ณ Asia House

เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ "Imprinted Heritage: The Art of Thailand’s Lanna Lantern" ณ Asia House

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 เม.ย. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 เม.ย. 2568

| 150 view
เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๘ นางสุพรรณวษา โชติกญาณ ถัง เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ได้เข้าร่วมพิธีเปิดนิทรรศการ "Imprinted Heritage: The Art of Thailand’s Lanna Lantern" ณ Asia House กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งนำเสนอผลงานศิลปหัตถกรรมและงานหัตถศิลป์ไทยซึ่งนำเสนอภูมิปัญญาการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมล้านนาจากภาคเหนือของไทย ผ่านโคมศรีล้านนา หรือ โคมกระดาษ ซึ่งนับเป็นงานหัตถศิลป์ที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ รศ.ดร. น้ำฝน ไล่สัตรูไกล ภัณฑารักษ์ สมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย และคณะ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานร่วมกับผู้แทน Asia House ในโอกาสดังกล่าว เอกอัครราชทูตฯ ได้ร่วมกล่าวชื่นชมและแสดงความยินดีกับคณะว่า การนำผลงาน “Imprinted Heritage: The Art of Thailand’s Lanna Lantern” มาจัดแสดงที่เดนมาร์กในครั้งนี้ถือเป็นข้อริเริ่มอันดีในการนำเสนองานศิลปะในเชิงสัญลักษณ์โดยเชื่อมโยงคุณค่าของงานศิลป์ในอดีตที่สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลงานการออกแบบและตกแต่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในปัจจุบันและอนาคต เป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยอันทรงคุณค่าให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ แลกเปลี่ยนทัศนะและประสบการณ์ด้านงานศิลป์ร่วมกัน ตลอดจนขับเคลื่อนให้ประเทศไทยอยู่ในสายตาของชาวโลก โดยในพิธีเปิดนิทรรศการได้รับเกียรติจากนาง Heidi Wang สมาชิกสภาเทศบาลกรุงโคเปนเฮเกนและประธานของ International Women’s Club of Copenhagen ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก หน่วยงานทีมประเทศไทยในเดนมาร์ก ภาคเอกชนในวงการศิลปะ Friends of Thailand ตลอดจนชุมชนไทยในเดนมาร์กเข้าร่วม รวมจำนวนประมาณ ๓๐ คน
 
นิทรรศการดังกล่าวเปิดให้สาธารณชนในกรุงโคเปนเฮเกนเข้าชมระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ เมษายน ๒๕๖๘ โดยได้รับความสนใจจากศิลปิน ช่างศิลป์ และผู้สนใจในงานศิลปะทั้งชาวเดนมาร์กและชุมชนไทยในเดนมาร์ก เป็นการช่วยส่งเสริมผลงานวิจัยด้านศิลปหัตถกรรมและวงการอุตสาหกรรมงานสร้างสรรค์ของไทยที่สามารถจับต้องได้ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เพื่อนำเสนอและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างโอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ต่อไปในอนาคต

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ