เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๖ นางศิริลักษณ์ นิยม เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน (ทีมประเทศไทย) ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย อัครราชทูต (ฝ่ายการเกษตร) ณ กรุงบรัสเซลส์ อัครราชทูต (ฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง) ณ กรุงลอนดอน อัครราชทูต (ฝ่ายศุลกากร) ณ กรุงบรัสเซลส์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์) ณ กรุงบรัสเซลส์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายส่งเสริมการลงทุน) ณ กรุงสตอกโฮล์ม อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายอุตสาหกรรม) ณ กรุงเวียนนา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงโคเปนเฮเกน อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายพาณิชย์) ณ กรุงวอร์ซอ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือและรักษาการผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ณ กรุงลอนดอน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศไทยประจำกรุงสตอกโฮล์ม รองผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสตอกโฮล์ม และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตฯ
เอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งให้ทีมประเทศไทยทราบถึงภาพรวมของสถานการณ์ในด้านต่างๆ ของเดนมาร์ก และได้มีการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับเดนมาร์กและลิทัวเนียในสาขาต่าง ๆ ตลอดจนการรับทราบผลการดำเนินภารกิจของแต่ละหน่วยงานในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ และแผนงาน/โครงการ รวมทั้งแนวทาง การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในปีงบประมาณ ๒๕๖๗ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเดนมาร์กและลิทัวเนียให้ก้าวหน้าต่อไป หลังจากนั้น เอกอัครราชทูตฯ ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ทีมประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ ในโอกาสที่กรุงโคเปนเฮเกนได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงแห่งสถาปัตยกรรมโลกประจำปี ๒๕๖๖ สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงได้นำผู้เข้าร่วมประชุมทีมประเทศไทยไปศึกษาดูงานด้านสถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนที่ UN City กรุงโคเปนเฮเกน โดยมีนาย Flemming Johannesen ตำแหน่ง Head of UN City Communications ให้การต้อนรับคณะและพาชมอาคาร UN City กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานหน่วยงานของสหประชาชาติ ๑๑ หน่วยงาน (UNDP, UNEP, UNFPA, UNHCR, UNICEF, UNIDO, UNOPS, UN Women, WFP, WHO และ IOM) โดยเป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบให้มีความโดดเด่นในเรื่องความยั่งยืน โดยใช้แสงสว่างจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด มีการรองน้ำฝนและกักเก็บเพื่อใช้ภายในอาคาร หลังคาของ UN City เป็นสีขาวและทำจากวัสดุรีไซเคิลจากพืชที่สะท้อนแสงอาทิตย์เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในอาคาร มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และใช้พลังงานหมุนเวียนในอาคาร
ต่อจากนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมทีมประเทศไทยได้ไปศึกษาดูงานที่ Copenhagen Hill โดยมีนาย Mr. Alexander Ringling ให้การต้อนรับและบรรยายให้คณะทราบถึงลักษณะพิเศษด้านสถาปัตยกรรมของ Copenhagen Hill ซึ่งเป็นโรงงานผลิตพลังงานจากขยะที่ปลอดมลพิษด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยทำให้ระบบบำบัดน้ำเสียและกระบวนการผลิตพลังงานไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มีการออกแบบพื้นที่หลังคาและตัวอาคารโดยรอบให้เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ พื้นที่สันทนาการ ทางเดินป่า ลู่สกี และกำแพงปีนหน้าผา จึงเป็นสถานที่นิยมในการพักผ่อนหย่อนใจและเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของความเป็นเมืองคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนของกรุงโคเปนเฮเกน