เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน นำคณะครูโรงเรียนรุ่งอรุณเยี่ยมชม Roskilde Festival Folk High School
เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน นำคณะครูโรงเรียนรุ่งอรุณเยี่ยมชม Roskilde Festival Folk High School
วันที่นำเข้าข้อมูล 8 พ.ค. 2566
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 8 พ.ค. 2566
| 447 view
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 นางศิริลักษณ์ นิยม เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ได้นำคณะครูโรงเรียนรุ่งอรุณ นำโดยศาสตราจารย์วิจารณ์ พานิช นายกสภาสถาบันอาศรมศิลป์ และรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกในประเทศไทย เยี่ยมชม Roskilde Festival Folk High School โดยมีนาย Hans Christian Nielsen ครูใหญ่ของโรงเรียนให้การต้อนรับและนำชมการเรียนการสอนของโรงเรียน ซึ่งเป็นสถาบันเปิดสอนหลักสูตรด้านศิลปะระยะสั้น 6 เดือน แบบโรงเรียนประจำ สำหรับนักเรียนประมาณ 80 คน ที่จบชั้นมัธยมปลายและกำลังจะศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ใช้เวลาค้นหาตนเองและได้มีเวลาเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ โดยการให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมที่มีส่วนร่วมกับชุมชน ผ่านการเข้ามีส่วนร่วมในการจัดงาน “Roskilde Festival” ซึ่งเป็นงานคอนเสิร์ตของเมือง Roskilde ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนอร์ดิก และเป็นหนึ่งในงานคอนเสิร์ตที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งแต่ละปีจะมีผู้เข้าชมมากกว่าหนึ่งแสนคน
แนวทางของหลักสูตรทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงของการจัดการเทศกาลขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถทุกด้าน ที่ต้องอาศัยการวางแผน การจัดการ การพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็น การแบ่งงานกันทำ การแบ่งความรับผิดชอบ ภาวะผู้นำ และการสร้างสรรค์งานทางศิลปะแขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานเทศกาล เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายโดยมีอาจารย์ให้ความรู้ที่ต้องการใช้ในการจัดงานซึ่งมีการสอนใน 4 สาขาได้แก่ การแสดง ดนตรี ภาพยนตร์ และภาวะผู้นำ โดยอาจารย์จะทำงานร่วมกับนักเรียนด้วย นอกจากนี้ อาจารย์จะมีกิจกรรมการพูดคุยกับนักเรียนในห้องสีส้มทุกวันในประเด็นต่างๆ วันละ 30 นาที ที่ทำให้นักเรียนเกิดความตื่นตัวและปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยผ่านการทำงานและการอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 6 เดือน
โรงเรียน Folk High School มีอยู่ 6 แห่งทั่วประเทศเดนมาร์ก ไม่มีการสอบเข้าแต่จะใช้ระบบใครมาสมัครก่อนได้ก่อน ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านศิลปะ และไม่มีการสอบวัดผลเมื่อจบหลักสูตร แต่จะมีการประเมินติดตามผลการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนแต่ละคนไปตลอดทางของหลักสูตร ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการเรียนการสอนของเดนมาร์กในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยหรือระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งคณะเห็นว่าสอดคล้องกับแนวทางของโรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ใช้ระบบการศึกษาแบบองค์รวม ที่มุ่งพัฒนานักเรียนผ่านการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งคณะจะนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดให้สมบูรณ์ในการศึกษาของโรงเรียนต่อไป