การแจ้งเกิด

การแจ้งเกิด

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 เม.ย. 2566

| 6,442 view

เอกสารและหลักฐานที่จะต้องยื่น

กรุณานำเอกสารต้นฉบับต่อไปนี้ พร้อมสำเนาจำนวน 1 ชุด มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ คือ

  1. ใบแจ้งเกิดเด็กแบบสองภาษา ที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก (Udenrigsministeriet) (ท่านสามารถติดต่อขอรับใบแจ้งเกิดเดนมาร์กแบบสองภาษาได้ที่โบสถ์) ตัวอย่างใบแจ้งเกิดปัจจุบัน และ ตัวอย่างใบแจ้งเกิดแบบสองภาษาแบบเดิม
  2. ใบสำคัญการสมรสของบิดาและมารดา หรือ คำพิพากษาหย่าที่มีผลบังคับใช้แล้ว หรือ หนังสือรับรองบุตร
  3. บัตรประจำตัวประชาชนไทยและหนังสือเดินทางของบิดาและมารดาที่ยังมีอายุใช้งานอยู่
  4. สำเนาทะเบียนบ้านไทยและเดนมาร์กของบิดาและมารดา (กรณีทั้งคู่เป็นคนสัญชาติไทย) หรือบัตรประจำตัว (sundhedskort) ของบิดาหรือมารดา (กรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนสัญชาติเดนมาร์ก)
  5. บันทึกสอบปากคำสำหรับเด็กที่อายุเกิน 7 ปี l ดาวน์โหลด l
  6. คำร้องขอจดทะเบียนคนเกิด ที่กรอกรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว ดาวน์โหลด |
  7. ใบเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล (กรณีบิดา มารดา หรือเด็กเคยเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล)
  8. คำร้องนิติกรณ์ขอรับรองเอกสาร | ดาวน์โหลด |
  9. ค่าธรรมเนียมรับรองเอกสาร ฉบับละ 120 โครนเดนมาร์ก
    – ชำระเป็นเงินสด (กรุณาเตรียมเงินมาให้พอดี)

**เจ้าหน้าที่อาจเรียกเอกสารเพิ่มเติมได้แล้วแต่กรณี ***

  • การแจ้งเกิดตามกฎหมายไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่หากมีการรับรองเอกสารที่เกี่ยวข้อง จะต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการรับรองเอกสาร ฉบับละ 120 โครนเดนมาร์ก ในกรณีที่เอกสารที่จะให้สถานเอกอัครราชทูตฯ รับรองเป็นภาษาเดนมาร์ก ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ และนำไปให้กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์กประทับตรารับรองก่อน
  • หากประสงค์จะแจ้งเกิดบุตร 2 คนหรือมากกว่า กรุณาจัดเตรียมเอกสารต่างๆ เพิ่มตามจำนวนบุตรด้วย
  • ทำสูติบัตรที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ใช้เวลาดำเนินการนานประมาณ 2 สัปดาห์

หมายเหตุ หลังจากแจ้งเกิดบุตร ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ แล้ว ควรทำหนังสือเดินทางไทยให้บุตรที่สถานเอกอัครราชทูตฯ (ในกรณีที่บิดามารดาเป็นคนไทย) และ แต่ถ้าเป็นลูกครึ่งขอให้เพิ่มชื่อบุตรเข้าในทะเบียนบ้านไทยก่อน จากนั้นจึงทำหนังสือเดินทางหากไม่ทำการเพิ่มชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านไทย บุตรจะเสียสิทธิในประเทศไทย เช่น บุตรอาจจะไม่สามารถเข้าโรงเรียนในประเทศไทยได้

การแจ้งชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านไทย

** สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่สามารถ แจ้งอำเภอไทย เพื่อเพิ่มชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้านไทยให้ได้ ท่านต้องไปแจ้งที่อำเภอไทย ซึ่งโดยทั่วไปต้องไปติดต่อด้วยตนเองเนื่องจากต้องแสดงหนังสือเดินทางไทยของเด็กที่ได้รับการประทับตราเข้าเมืองจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไทยไปแสดง อย่างไรก็ตาม ควรสอบถามจากอำเภอ/เขตโดยตรง **

การเพิ่มชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านไทย

  • นำหนังสือเดินทางไทยของบุตรที่ได้รับการประทับตราเข้าประเทศไทยจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทย และใบเกิดบุตร (สูติบัตรไทย) ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตฯไปแจ้งชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านที่อำเภอที่ท่านมีชื่ออยู่ใน ทะเบียนบ้าน [หากไม่ได้ทำหนังสือเดินทางไทยให้บุตรที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และเดินทางเข้าประเทศไทยโดยใช้หนังสือเดินทางของประเทศอื่น หรือใบสำคัญประจำตัว (ใบซี.ไอ.) ก็สามารถเพิ่มชื่อเด็กเข้าทะเบียนบ้านไทยได้ แต่ต้องไปติดต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยเพื่อทำการพิสูจน์สัญชาติเด็กก่อน]
  • เอกสารประจำตัวบิดา/มารดาที่มีสัญชาติไทย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส
  • คัดสำเนาทะเบียนบ้านไทยของบุตร เพื่อนำมาใช้ที่ประเทศเดนมาร์ก

กรณีประสบปัญหาในการแจ้งชื่อบุตรเข้าทะเบียนบ้านไทย โดยเฉพาะเขตต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ กรุณาติดต่อที่ กองปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร โทร. 02-621 0721

หากประสงค์ให้สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดส่งกลับให้ทางไปรษณีย์ โปรดแนบซอง จ่าหน้าถึงตัวท่านเองให้ชัดเจน พร้อม ติดแสตมป์สำหรับค่าไปรษณีย์ลงทะเบียน ให้เพียงพอสำหรับเอกสารที่ต้องการให้ส่งคืน ตามอัตราของสำนักงานไปรษณีย์เดนมาร์ก (ประมาณ 100-150 โครนเดนมาร์ก) หากชำระค่าไปรษณีย์ไม่ครบถ้วนสถานเอกอัครราชทูตฯจะไม่สามารถส่งหนังสือเดินทางกลับให้กับท่านได้

 

หมายเหตุ: หากต้องการให้สถานทูตส่งเอกสารกลับ กรุณาเตรียมแสตมป์สำหรับจดหมายลงทะเบียน Rekommanderet brev (กรุณาเช็คราคากับทางไปรษณีย์โดยตรง) สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับผิดชอบกรณีเอกสารที่ส่งทางไปรษณีย์ชำรุดหรือสูญหาย ไม่ว่ากรณีใด

*******************

กรุณาติดต่อขอนัดก่อนเพื่อความสะดวก และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
 อีเมล์ [email protected]