การจดทะเบียนสมรส

การจดทะเบียนสมรส

วันที่นำเข้าข้อมูล 24 มี.ค. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 ก.พ. 2566

| 6,931 view
  • การจดทะเบียนสมรสที่สถานเอกอัครราชทูต ณ โคเปนเฮเกน มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายไทย แต่ไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฏหมายเดนมาร์ก
  • การขอจดทะเบียนสมรส คู่สมรสทั้งสองฝ่ายต้องไปติดต่อยื่นคำร้องด้วยตนเอง ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เนื่องจากการจดทะเบียนสมรสนั้น คู่สมรสต้องลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียน และพยานสองคน

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส

  • ชายหรือหญิงต้องมีสัญชาติไทย
  • จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ และต้องนำบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย
  • กรณีที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลให้ทำการสมรสได้ ส่วนผู้ที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง
  • ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
  • ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
  • ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
  • ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
  • หญิงที่สามีตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทำการะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสมรสครั้งก่อนได้สิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่
    – คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
    – สมรสกับคู่สมรสเดิม
    – มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือ
    – ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้

หมายเหตุ กรณีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติต้องมีหนังสือรับรองคุณสมบัติเหมาะสมหรือมีเสรีภาพในการสมรสซึ่งออกโดยทางการของประเทศที่ผู้ร้องมีสัญชาติ

เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนสมรส (ผู้ยื่นคำร้องทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต้องยื่นเอกสารเหมือนกัน ดังนี้)

  1. คำร้องขอนิติกรณ์ | ดาวน์โหลด|
  2. คำร้องขอจดทะเบียนสมรส และบันทึกคำสอบสวน | ดาวน์โหลด|
  3. หนังสือเดินทาง พร้อมสำเนา คนละ 1 ชุด
  4. ทะเบียนบ้านไทย หรือ บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา คนละ 1 ชุด
  5. ใบแสดงถิ่นที่อยู่ในเดนมาร์ก พร้อมสำเนา คนละ 1 ชุด
  6. ต้นฉบับทะเบียนหย่า พร้อมสำเนา คนละ 1 ชุด (กรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือ ทั้งสองฝ่าย เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนและได้หย่าขาดแล้ว)
  7. หนังสือรับรองสถานะภาพความเป็นโสด (กรณีผู้ขอจดทะเบียนสมรสเป็นฝ่ายที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทย)
  8. ใบรับรองแพทย์ระบุว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ (กรณีฝ่ายหญิงหย่าขาดมาน้อยกว่า 310 วัน ณ วันที่ยื่นขอจดทะเบียนสมรสใหม่)
  9. เอกสารที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ แล้วแต่กรณี เช่น ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล เป็นต้น

หมายเหตุ ท่านสามารถติดต่อขอรับแบบคำร้องขอจดทะเบียนสมรสได้ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยสอดซองเปล่าปิดแสตมป์ และจ่าหน้าซองถึงตัวท่านเองพร้อมที่อยู่ให้ชัดเจน โดยส่งถึง Royal Thai Embassy, Consular Section, Norgemindevej 18, 2900 Hellerup, Copenhagen, Denmark ระบุมุมซองว่า “ ขอคำร้องจดทะเบียนสมรส”

ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส

  • ติดต่อฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อนัดหมายวัน และเวลา ล่วงหน้า
  • ในวันนัดหมาย คู่สมรสต้องไปปรากฎตัวต่อหน้านายทะเบียนทั้งสองคน
  • คู่สมรสควรนำพยานบุคคล 2 คน ไปด้วย
  • คู่สมรสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องนำบิดาและมารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมายมาให้ความยินยอมด้วย

ค่าธรรมเนียม (ไม่เสียค่าธรรมเนียม)

ข้อมูลการใช้นามสกุลหลังสมรสตามกฎหมายไทย
ตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 เมื่อสมรสแล้ว ฝ่ายหญิงและฝ่ายชายสามารถเลือกใช้นามสกุลได้ ดังนี้

  1. คงใช้นามสกุลเดิมทั้งสองฝ่าย
  2. ฝ่ายหญิงใช้นามสกุลตามสามี
  3. ฝ่ายชายใช้นามสกุลตามภรรยา
  4. ฝ่ายหญิงใช้นามสกุลสามี ฝ่ายชายใช้นามสกุลภรรยา

หมายเหตุ เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว คู่สมรสฝ่ายหญิงจะต้องรีบไปดำเนินการแก้ไขทะเบียนราษฏร์และขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนให้ถูกต้อง ณ อำเภอท้องที่ตามทะบียนบ้านไทย พร้อมทั้งทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่โดยทันทีที่เดินทางกลับประเทศไทย

****************************


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน (ฝ่ายกงสุล)
อีเมล์ [email protected]