ข้อมูลทั่วไปเดนมาร์ก

ข้อมูลทั่วไปเดนมาร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.พ. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 มี.ค. 2567

| 92,475 view

denmark2

ราชอาณาจักรเดนมาร์ก

Kingdom of Denmark

 

ข้อมูลทั่วไป

 

ที่ตั้ง                                        ตั้งอยู่บนคาบสมุทรจัตแลนด์ (Jutland) ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป ทิศใต้ติดสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

                                             ทิศตะวันออกติดราชอาณาจักรสวีเดน ผ่านสะพานข้ามช่องแคบเออเรซุนด์ (Øresund)                                                                                   ทิศเหนือและทิศตะวันตกติดทะเลเหนือ

พื้นที่                                       ๔๓,๐๙๔ ตารางกิโลเมตร (เฉพาะพื้นที่บนคาบสมุทรจัตแลนด์ ไม่รวมดินแดนปกครองตนเองอื่น ๆ)

                                             โดยมีดินแดนปกครองตนเอง ๒ แห่ง คือ เกาะกรีนแลนด์ (Greenland) และหมู่เกาะแฟโร (Faroe Islands)

เมืองหลวง                                กรุงโคเปนเฮเกน (Copenhagen)

ประชากร                                  ๕.๘๕ ล้านคน (ปี ๒๕๖๕)

ภูมิอากาศ                                 มี ๔ ฤดู ฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคม-เดือนมีนาคม

อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง -๔ ถึง ๔ องศาเซลเซียส ฤดูใบไม้ผลิระหว่างเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง ๔ - ๘ องศา เซลเซียส ฤดูร้อนระหว่างเดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง ๘ - ๒๒ องศาเซลเซียส และฤดูใบไม้ร่วงระหว่างเดือนกันยายน- เดือนพฤศจิกายน อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่าง ๓ - ๑๖ องศาเซลเซียส

ภาษาราชการ                            แดนิช (Danish)

ศาสนา                                     ศาสนาคริสต์ นิกายลูเทอแรน ร้อยละ ๙๕ นิกายอื่น ๆ ร้อยละ ๓ และศาสนาอิสลาม ร้อยละ ๒

หน่วยเงินตรา                             โครนเดนมาร์ก อัตราแลกเปลี่ยน ๑ โครนเดนมาร์ก เท่ากับ ๕.๐๑ บาท (สถานะวันที่ ๑๐ พฤษจิกายน ๒๕๖๕)

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ          ๓๙๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๖๕)

รายได้ประชาชาติต่อหัว                 ๖๗,๘๐๓.๐๕ ดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๖๕)

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ              ร้อยละ ๑.๕ (ปี ๒๕๖๕)

ระบอบการปกครอง                     ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน คือ
                                              สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริก ที่ ๑๐ แห่งเดนมาร์ก (His Majesty King Frederik X of Denmark)
                                              (เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๗)
                                               และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล วาระการ ดำรงตำแหน่ง ๔ ปี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ

                                                นางเมตเทอ เฟรเดริกเซิน (Mrs. Mette Frederiksen) (ตั้งแต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๒)

 

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป

         ไทยและเดนมาร์กเริ่มมีการติดต่อระหว่างกันครั้งแรกในสมัยอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๖๔ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม และสมเด็จพระเจ้าคริสเตียนที่ ๔ แห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ (His Majesty King Christian IV of Denmark and Norway) ในสมัยที่ราชอาณาจักรเดนมาร์กและราชอาณาจักรนอร์เวย์ยังรวมเป็นราชอาณาจักรเดียวกัน ต่อมาทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ ๘ แห่งเดนมาร์ก (His Majesty King Frederick VIII of Denmark) โดยการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี การค้า และการเดินเรือ ค.ศ. ๑๘๕๘ (Treaty of Friendship, Commerce, and Navigation 1858) เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๐๑ และในปี ๒๔๐๓ เดนมาร์กได้จัดตั้งสถานกงสุลที่กรุงเทพฯ ในขณะที่ฝ่ายไทยได้เปิดสถานอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปี ๒๔๙๗ จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ไทยจึงได้ยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับเดนมาร์กขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต    

         ๑.๑ ความสัมพันธ์ในระดับพระราชวงศ์

              ไทยกับเดนมาร์กมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างพระบรมราชจักรีวงศ์กับพระราชวงศ์กลึคส์บูร์ก (Glücksburg) ของเดนมาร์ก โดยมีเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่

              ๑.๑.๑ การเสด็จเยือนราชอาณาจักรเดนมาร์ก ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒ ครั้ง ได้แก่ (๑) ระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๔๐ ในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระราชาธิบดีคริสเตียนที่ ๙ แห่งเดนมาร์ก (His Majesty King Christian IX of Denmark) และ (๒) ระหว่างวันที่ ๓๐ มิถุนายน - ๔ กรกฎาคม ๒๔๕๐ ในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๒

              ๑.๑.๒ การพระราชทานช้างแด่พระบรมวงศานุวงศ์เดนมาร์ก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงได้พระราชทานช้างไทยแด่พระบรมวงศานุวงศ์เดนมาร์ก ๒ ครั้ง ได้แก่ (๑) การพระราชทานช้าง ๒ เชือก ได้แก่ “พลายเชียงใหม่” และ “พังบัวผา” แด่สมเด็จพระราชาธิบดีเฟรเดอริกที่ ๙ แห่งเดนมาร์ก (His Majesty King Frederick IX of Denmark) และสมเด็จพระราชินีอินกริด
แห่งเดนมาร์ก (Her Majesty Queen Ingrid of Denmark) ในโอกาสที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างวันที่ ๑๒ - ๒๔ มกราคม ๒๕๐๕ (๒) การพระราชทานช้าง ๒ เชือก ได้แก่ “พลายต้นสัก” และ “พังกันเกรา” แด่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ ๒ แห่งเดนมาร์ก และเจ้าชายเฮนริกแห่งเดนมาร์ก (His Royal Highness Prince Henrik of Denmark) พระราชสวามี ในโอกาสที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างวันที่ ๗ - ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ ประชาชนชาวจังหวัดสุรินทร์ได้มอบช้างอีก ๑ เชือก คือ “พังสุรินทร์” เป็นของขวัญให้แก่ประชาชนชาวเดนมาร์กด้วย

                        อนึ่ง เมื่อปี ๒๕๓๙ พังบัวผาได้ล้มลงในสวนสัตว์กรุงโคเปนเฮเกน และเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๐ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ฯ ได้วางยาพลายเชียงใหม่ (อายุ ๕๘ ปี) เพื่อให้ล้มลง เนื่องจากมีอาการของโรคชราและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ทั้งนี้ พลายเชียงใหม่ได้รับการขนานนามให้เป็น “great great grandfather of elephants” ในยุโรป เนื่องจากเป็นพ่อพันธุ์ที่ให้กำเนิดช้างรุ่นลูกหลานรวมหลายสิบเชือกกระจายอยู่ตามสวนสัตว์ต่าง ๆ ในยุโรป

                        ในปัจจุบัน สวนสัตว์กรุงโคเปนเฮเกนมีช้างไทยอยู่จำนวน ๕ เชือก ได้แก่  พัง"กันเกรา" (อายุ ๒๕ ปี) พัง"สุรินทร์" (อายุ ๒๕ ปี) พัง"มูน" (อายุ ๓ ปี ลูกของพังสุรินทร์กับพลายช้างซึ่งล้มไปเมื่อปี ๒๕๖๓) พลาย"ฟาฮีม" และพัง "กุมารี มหา” ส่วนพลายต้นสักซึ่งเป็นช้างพระราชทานอีก ๑ เชือกที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ถูกยืมตัวไปเป็นพ่อพันธุ์ที่สวนสัตว์ในสวีเดนตั้งแต่ปี ๒๕๕๘

        ๑.๒ การเมือง

              ความสัมพันธ์ด้านการเมืองระหว่างไทยกับเดนมาร์กเป็นไปด้วยความราบรื่นผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ

        ๑.๓ เศรษฐกิจ

              เดนมาร์กจัดเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก แต่มีเทคโนโลยีในด้านอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้า มีขีดความสามารถในการผลิตสูงทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด รวมทั้งมีความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นสาขาที่ตรงกับความต้องการของไทยที่มุ่งส่งเสริมการเกษตรแบบยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ การบริหารจัดการฟาร์มอัจฉริยะ เกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดการใช้พลังงานในภาคการเกษตร เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออาหารปลอดภัยครบวงจร เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและการแปรรูปอาหาร

              ในปี ๒๕๖๖ การค้าระหว่างไทยกับเดนมาร์กมีมูลค่า ๘๔๖.๙๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ ๓.๓๙  ไทยส่งออก ๓๖๐.๙๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้า ๔๘๕.๙๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยเสียเปรียบดุลการค้า ๑๒๕.๐๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ ได้แก่ แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า รองเท้าและชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรอื่น ๆ   เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
สินค้านำเข้าจากเดนมาร์กที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม  เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เป็นต้น

              การลงทุนของเดนมาร์กในไทย

              ในภาพรวม มีบริษัทจากเดนมาร์กลงทุนในไทยประมาณ ๑๐๐ บริษัทที่สำคัญ ได้แก่ Pandora (เครื่องประดับและอัญมณี) เปิดโรงงานในกรุงเทพฯ ๒ แห่ง และจังหวัดลำพูน ๑ แห่ง จ้างงานประมาณ ๑๘,๐๐๐ ตำแหน่ง ISS (บริการทำความสะอาดและรักษาความปลอดภัย) จ้างงานประมาณ ๓๐,๐๐๐ ตำแหน่ง ECCO (รองเท้า) จ้างงานประมาณ ๓,๐๐๐ ตำแหน่ง Lego (ของเล่นเด็ก) Maersk (ขนส่งและกระจายสินค้าทางเรือ) Royal Copenhagen (เครื่องใช้เซรามิก) และ Novo Nordisk (เวชภัณฑ์) ทั้งนี้ โครงการลงทุนที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นของบริษัท Pandora ซึ่งมีเงินลงทุนรวมกว่า ๒๐๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

               จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี ๒๕๖๔ มีการลงทุนทางตรงของเดนมาร์กในไทยมูลค่าประมาณ ๕๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ในปี ๒๕๖๖ มีโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน ๖ โครงการ มูลค่ารวม ๒๐๐ ล้านบาท  โดยเดนมาร์กจัดเป็นนักลงทุนลำดับที่ ๑๖ ของไทย หรืออันดับ ๗ ในกลุ่มนักลงทุนยุโรป

              การลงทุนของไทยในเดนมาร์ก ที่สำคัญได้แก่ Indorama Ventures (ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก) Central Group ซื้อกิจการห้างสรรพสินค้า Illum กรุงโคเปนเฮเกน และ Blue Elephant (ภัตตาคารอาหารไทย)

         ๑.๕ ความสัมพันธ์ระดับประชาชนและการท่องเที่ยว

                ในปี ๒๕๖๖ มีนักท่องเที่ยวชาวเดนมาร์กเดินทางมาไทย จำนวน ๑๑๕,๒๐๙ คน เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๖ุู๕ ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยว ๖๔,๒๔๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๙  (เมื่อปี ๒๕๖๒ ก่อนการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีนักท่องเที่ยวชาวเดนมาร์กเดินทางมาไทยจำนวน ๑๕๙,๕๒๖ คน )

                ชุมชนไทยในเดนมาร์ก ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในเดนมาร์ก จำนวนประมาณ ๑๓,๐๐๐ คน นอกจากนี้ ยังมีวัดไทย จำนวน ๑๑ แห่ง ร้านอาหารไทย จำนวน ๘๕ ร้าน และค่ายมวยไทย จำนวน ๒๖ แห่ง โดยค่ายมวยที่ใหญ่ที่สุด (SIAM) อยู่ในกรุงโคเปนเฮเกน มีผู้ฝึกสอนมวยไทยและผู้ฝึกมวยไทยประมาณ ๓๐๐ - ๔๐๐ คน

                ชุมชนเดนมาร์กในไทย ปัจจุบันมีชาวเดนมาร์กอาศัยอยู่ในไทยประมาณ ๒,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ และมีองค์กรและสถาบันที่สำคัญของชาวเดนมาร์กและกลุ่มสแกนดิเนเวีย เช่น หอการค้าไทย-เดนมาร์ก และสมาคมสแกนดิเนเวียนสยาม (Scandinavian Society Siam)

 

. ความตกลงที่สำคัญกับไทย

              ๑. ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทยและเดนมาร์ก (ลงนามเมื่อปี ๒๔๙๒)

              ๒. อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์กว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวข้อง
กับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑)                

              ๓. สนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรเดนมาร์กว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๒)       

              ๔. ความตกลงต่างตอบแทนว่าด้วยพนักงานวิทยุสมัครเล่นไทย-เดนมาร์ก (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๖)

 

*******************************