ผู้บัญชาทหารเรือเปิดพระราชวังเดิม กองทัพเรือ ต้อนรับนาย Andreas Hastrup เหลนของนายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์

ผู้บัญชาทหารเรือเปิดพระราชวังเดิม กองทัพเรือ ต้อนรับนาย Andreas Hastrup เหลนของนายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.พ. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ก.พ. 2566

| 1,841 view

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้การต้อนรับนาย Andreas Hastrup ทายาทลำดับเหลนของนายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ ชาวเดนมาร์กผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากองทัพเรือสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม

S__837312518

 

โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือได้มอบหมายให้ พลเรือโท ชาติชาย ทองสะอาด รองเสนาธิการทหารเรือ นำนาย Andreas Hastrup และภริยาชมพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี ที่นายพลเรือโทพระยาชลยุทธโยธินทร์ ได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ก่อนที่จะเดินทางไปเยี่ยมชมป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งนายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ เคยทำหน้าที่เป็นผู้ออกแบบและจัดหาปืนเสือหมอบมาติดตั้ง เพื่อปกป้องอธิปไตยของสยามประเทศในเหตุการณ์ ร.ศ.112

นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ นามเดิม อองเดร ดูว์ แปลซี เดอ ริเชอลีเยอ เป็นชาวเดนมาร์ก เข้ามารับราชการในประเทศสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการปฏิรูปกิจการทหารให้ทันสมัย โดยกัปตันริเชอลีเยอ ซึ่งจบการศึกษาในวิชาการทหารเรือ ได้ขอรับพระราชทานพระราชหัตถเลขาจากพระเจ้าคริสเตียนที่ 9 แห่งประเทศเดนมาร์ก เพื่อใช้ประกอบในการสมัครรับราชการ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการเป็นผู้บังคับการเรือพิทยัมรณยุทธ ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2418

หลังจากนั้นกัปตันริเชอลีเยอ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับการเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ และเรือสยามมงกุฎไชยสิทธ์ออกไปรักษาการที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยที่ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย โดยขณะปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนั้น ได้เกิดการจลาจลที่จังหวัดระนอง ซึ่งกัปตันริเชอลีเยอได้มีส่วนร่วมในการปราบจลาจลดังกล่าว

จากผลงานการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเข้มแข็ง กัปตันริเชอลีเยอจึงมีความก้าวหน้าในการรับราชการตามลำดับ โดยในปี พ.ศ. 2421 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงชลยุทธโยธินทร์” ดํารงตําแหน่งปลัดกรมแสง พ.ศ. 2425 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระชลยุทธโยธินทร์” พ.ศ. 2426 ได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือเอก พ.ศ. 2430 ได้รับตําแหน่งปลัดทัพเรือ พ.ศ. 2431 ได้รับพระราชทานยศนายพลเรือจัตวา พ.ศ. 2434 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาชลยุทธโยธินทร์” พ.ศ. 2440 ได้รับพระราชทานยศ “นายพลเรือตรี” พ.ศ. 2441 โปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ และ พ.ศ. 2443 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ

พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้ปฏิบัติราชการสำคัญในกองทัพเรือ อาทิ ผู้อํานวยการสร้างเรือพระที่นั่งมหาจักรี (ลําที่ 1) เรือพาลีรั้งทวีป และ เรือสุครีพครองเมือง และยังได้ขอพระราชทานพระราชวังเดิมเป็นที่ก่อตั้งโรงเรียนนายเรือ โดยในขณะที่ดํารงตําแหน่งผู้บังคับการกรมทหารเรือได้เล็งเห็นว่า การที่โรงเรียนนายเรือไม่มีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งเป็นข้อจํากัดทางด้านการศึกษา จึงได้ริเริ่มในการจัดหาที่ตั้งโรงเรียนนายเรือให้เป็นหลักเป็นฐาน โดยเห็นว่าพื้นที่พระราชวังเดิมเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสม เนื่องด้วยมีที่ตั้งที่อยู่ติดแม่น้ำสามารถนําเรือมาเทียบและทําการฝึกได้ อีกทั้งมีที่ตั้งอยู่ใกล้ส่วนบัญชาการ สามารถกํากับดูแลปกป้องรักษาได้ง่าย จึงได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานที่ดินดังกล่าว พระองค์จึงได้พระราชทานที่ดินพระราชวังเดิมให้กรมทหารเรือก่อตั้งโรงเรียนนายเรือ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียนนายเรือเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2449

นอกจากนั้น นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ ยังมีส่วนสำคัญในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 โดยทําหน้าที่ผู้อํานวยการป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะดํารงตําแหน่งรองผู้บัญชาการกรมทหารเรือ โดยได้ออกแบบและจัดหาปืนเสือหมอบมาติดตั้ง ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า รวมทั้งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ร่วมไปกับคณะทูตสยามนำโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพไปเจรจาความเมืองกับฝรั่งเศส เดนมาร์ก และรัสเซียในปี พ.ศ. 2434 และดูแลนำพระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ไปศึกษาต่างประเทศ

ในด้านกิจการไฟฟ้าและรถราง เมื่อรัฐบาลสยามและผู้ประกอบการเอกชนประสบปัญหาขาดทุน และค่าใช้จ่ายในการเช่าเครื่องจักรไฟฟ้าที่ปรับราคาสูงขึ้น พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้ระดมทุนจากชาวเดนมาร์กในการร่วมดําเนินการกิจการไฟฟ้าให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการดําเนินกิจการรถรางขึ้นในกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมาได้รับเกียรติให้ใช้นาม “ชลยุทธโยธินทร์” เป็นนามเรือยนต์พระที่นั่ง (ปลดระวางเมื่อ 8 สิงหาคม 2466)

ในด้านกิจการศาสนา พระยาชลยุทธโยธินทร์เป็นผู้อัญเชิญพระพุทธชินราชจำลองที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้น โดยเป็นผู้ควบคุมและตกแต่งองค์พระที่กรมอู่ทหารเรือ และอัญเชิญลงเรือมณฑปไปประดิษฐานยังวัดเบญจมบพิตร และวางรางเพื่อการเคลื่อนย้ายองค์พระเข้าสู่อุโบสถ

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2444 นายพลเรือโท พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ เนื่องด้วยมีปัญหาด้านสุขภาพและได้เดินทางกลับไปรักษาตัวที่ประเทศเดนมาร์ค โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปส่งพระยาชลยุทธโยธินทร์ถึงประเทศสิงคโปร์

ภายหลังเดินทางกลับประเทศเดนมาร์ก พระยาชลยุทธโยธินทร์ยังได้ร่วมตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2450 และได้เข้าร่วมพัฒนาเรือพลังดีเซลลำแรกของโลกชื่อ “ซีแลนเดีย” (Selandia) และการเดินเรือเที่ยวแรกของเรือลำนี้คือโคเปนเฮเกน-บางกอก นับเป็นการเปิดศตวรรษแห่งการเดินเรือโดยเครื่องยนต์ดีเซลข้ามมหาสมุทร ซึ่งต่อมาเรือซีแลนเดียลำนี้ได้เป็นเรือพระที่นั่งที่นำพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เสด็จนิวัติกลับประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2493 พระยาชลยุทธโยธินทร์ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2474 ในวัย 79 ปี

4B1EAE5E-41FC-4E35-AD16-BC4DF6EAC2C8 807DBBF1-0FE0-458B-BA2B-C1B2AE8C6D01  

 

https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2503159/captain-richelieus-descendant-visits

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ