เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นางศิริลักษณ์ นิยม เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ให้การต้อนรับคณะผู้แทนไทยที่เดินทางมาศึกษาดูงานเกี่ยวกับการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility หรือ EPR) ในการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต โดยคณะประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมมลพิษ) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD) สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERIC) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยบูรพา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (PRO Thailand Network) โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน ( PPP Plastics) โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งเดนมาร์ก (DEPA) สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) เข้าร่วมด้วย
ในโอกาสดังกล่าว เอกอัครราชทูตฯ เน้นว่าต้นทางสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นเริ่มได้จากที่บ้าน และได้ให้ข้อมูลกับคณะเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการคัดแยกขยะของทำเนียบเอกอัครราชทูตและสถานเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติของการแยกขยะในครัวเรือนของเทศบาลกรุงโคเปนเฮเกนเพื่อให้ง่ายต่อการกำจัดและรีไซเคิล โดยทุกครัวเรือนต้องคัดย่อยขยะออกเป็นหลายประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป กระดาษแข็ง กระดาษอ่อน พลาสติก โลหะ ขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขวดแก้ว น้ำมันที่ใช้แล้ว แคปซูลกาแฟ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และเวชภัณฑ์ ซึ่งต้องนำไปทิ้งในถังขยะจำแนกประเภทของแต่ละครัวเรือนหรือที่ทิ้งขยะเป็นการเฉพาะของเทศบาล รวมทั้งได้อธิบายถึงระบบมัดจำและการแลกเงินคืนจากขวดพลาสติกและขวดแก้วเพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลซึ่งเป็นการลดขยะจากขวดพลาสติกได้อย่างมาก หลังจากนั้น เอกอัครราชทูตฯ ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่คณะฯ
โครงการนำคณะไทยมาศึกษาดูงานด้าน EPR ในเดนมาร์กนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน DEPA สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย และองค์กร GIZ ของเยอรมนี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติด้าน EPR และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของเดนมาร์กและเยอรมนี เพื่อนำผลการศึกษาดูงานไปพัฒนาระบบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทยต่อไป ทั้งนี้ EPR คือหลักการที่ผู้ผลิตจะต้องขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดส่งกระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่และการบำบัด เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม