สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน จัดการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับ “ชุดไทย” เพื่อส่งเสริมการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน จัดการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับ “ชุดไทย” เพื่อส่งเสริมการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโก

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 เม.ย. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 เม.ย. 2567

| 473 view

เมื่อระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคม – ๒ เมษายน ๒๕๖๗ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ได้จัดการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับชุดไทยและผ้าไทยในหัวข้อ “จากชุดไทยถึงชุดไทยพระราชนิยม” โดยในวันที่ ๓๑ มีนาคม ได้จัดบรรยายให้แก่ชุมชนไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จากนั้นในวันที่ ๑ เมษายน จัดบรรยายให้กับชาวเดนมาร์กและชาวต่างประเทศที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต และในวันที่ ๒ เมษายน จัดการบรรยายให้กับหน่วยงานด้านแฟชั่นของเดนมาร์ก พิพิธภัณฑ์ด้านการออกแบบของเดนมาร์ก สโมสรสตรีสากล คณะทูตและคู่สมรสที่ Asia House โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทยและศิลปวัฒนธรรมไทยในหลากหลายแขนงเป็นผู้บรรยาย

 

ผศ.ดร. อนุชาฯ ได้อธิบายถึงประวัติและพัฒนาการของการแต่งกายชุดไทยที่มีวิวัฒนาการมายาวนาน สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยทราวดีต้นศตรรวษที่ ๗ เรื่อยมาจนถึงในสมัยอยุธยาและยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งการแต่งกายสตรีไทยยังคงเอกลักษณ์ที่ไม่เปลี่ยนคือการ ‘ห่มสไบ’และ ‘ผ้านุ่ง’ จวบจนมาจนถึงในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๐ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นักประวัติศาสตร์และนักออกแบบศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทยและสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้นในแบบต่างๆ อันเป็นจุดกำเนิดของชุดไทยพระราชนิยมรวม ๘ ชุด ซึ่งพระองค์ได้ทรงใช้เป็นชุด ฉลองพระองค์ในงานพระราชพิธีและในโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงการเสด็จฯ เยือนเดนมาร์กเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ โดยในการออกแบบชุดไทยพระราชนิยม ได้มีนักออกแบบชาวเดนมาร์กชื่อ นายอีริก มอร์เทนเซน ซึ่งทำงานให้กับห้องเสื้อบัลแมง ได้ร่วมออกแบบฉลองพระองค์ที่คงความเป็นเอกลักษณ์และความสง่างามในรูปแบบของชุดไทยที่ตัดเย็บจากผ้าไหมมัดหมี่ด้วย นอกจากนี้ ผศ.ดร.อนุชาฯ ยังได้บรรยายแนะนำผ้าทอพื้นบ้านอันเป็นอัตลักษณ์ของภูมิภาคต่าง ๆ ของไทยและสาธิตการนุ่งห่มผ้าไทยในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมากซึ่งต่างเห็นว่าชุดไทยและผ้าไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่งดงาม ซึ่งในปัจจุบันสตรีไทยได้นำชุดไทยมาสวมใส่ในงานพิธีและในโอกาสต่างๆ อย่างแพร่หลาย
 
เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวย้ำถึงวัตถุประสงค์ของการจัดบรรยายในครั้งนี้ว่า เพื่อส่งเสริมการที่รัฐบาลไทยได้มีมติเสนอให้ชุดไทยพระราชนิยมได้รับการขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เพื่อเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของชุดไทยว่า เป็นเครื่องแต่งกายที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานกว่า ๑,๔๐๐ ปี และยังคงอัตลักษณ์ของความเป็นไทยซึ่งรวมถึงองค์ประกอบของการ ‘ห่มสไบ’และ ‘ผ้านุ่ง’ สืบสานมาจนถึงปัจจุบัน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ