วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.ย. 2561
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
รัฐบาลไทยโดยกรมเจ้าท่ากำลังทบทวนการดำเนินงานด้านการจัดระเบียบกองเรือของทั้งประเทศ โดยนำร่องด้วยการปรับปรุงฐานข้อมูลเรือประมงและระบบการขึ้นทะเบียน และการจัดระเบียบ
การเดินเรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการกองเรือ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนและป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย
กรมเจ้าท่าได้เริ่มต้นด้วยการสะสางข้อมูลทางทะเบียนโดยการเพิกถอนทะเบียนเรือประมง
ที่ขาดต่ออายุเป็นเวลานานแล้วแต่ยังค้างอยู่ในระบบ ทำให้ตัวเลขจำนวนเรือประมงมากเกินความเป็นจริง จากนั้นกรมเจ้าท่าได้ร่วมกับกองทัพเรือและกรมประมงทำการสำรวจเรือประมงพาณิชย์ทั่วประเทศใหม่จำนวน
๕ รอบ เพื่อทำการวัดขนาดตัวเรือใหม่ให้ถูกต้องและจัดทำเครื่องหมายอัตลักษณ์ประจำเรือ และดำเนินการ
เพิกถอนทะเบียนเรือที่ไม่สามารถนำมาให้สำรวจได้ รวมทั้งได้ประกาศงดจดทะเบียนเรือประมงเป็นระยะเวลาสองปี โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. ๒๔๘๑ พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเรือประมงในระบบทะเบียนเรือสอดคล้องกันกับเรือประมงที่มีอยู่จริงและเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง และกรมประมงสามารถนำข้อมูลทะเบียนเรือไปพิจารณาการออกใบอนุญาตทำการประมงและจัดสรรทรัพยากรประมงได้อย่างประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันเรือที่ถูกนำออกไปจากระบบไม่ให้สามารถมาทำการประมงในน่านน้ำไทยอีก
กรมเจ้าท่าได้มีการจัดชุดปฏิบัติการพิเศษร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อติดตามสถานะของเรือประมงที่ถูกแจ้งว่า จมหรือชำรุดจนใช้การไม่ได้ การสำรวจซากเรือและเรือที่ถูกตรึงพังงาตามท่าเรือและลำน้ำต่าง ๆ เพื่อกำจัดออกจากระบบหากไม่พบเจ้าของเรือ
กรมเจ้าท่าได้วางมาตรการป้องกันหลายด้านเพื่อไม่ให้เรือผิดกฎหมายกลับเข้ามาในระบบ
ได้อีก เช่น การจัดทำรายชื่อชื่อเรือที่ถูกต้อง (white list) และเรือที่ต้องเฝ้าระวัง (watch list) ส่งให้ท่าเรือต่าง ๆ เพื่อใช้ในการตรวจสอบเรือที่เทียบท่า การส่ง watch list ให้ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO)
เพื่อประเมินความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเข้าไปตรวจเรือ และการนำ watch list มาตรวจสอบกับเรือที่ขอจดทะเบียนใหม่ เป็นต้น
ในส่วนของการควบคุมการใช้เรือประมง กรมเจ้าท่าเข้ามามีบทบาทในการควบคุมเรือ
ที่กรมประมงไม่ออกใบอนุญาตทำการประมงให้ หรือขอให้กรมเจ้าท่าถอนทะเบียนเรือ โดยกรมเจ้าท่าจะดำเนินการล็อกเรือไม่ให้เรือเหล่านั้นสามารถออกไปทำการประมงได้ และกรมเจ้าท่ายังได้ให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่จับกุมเรือประมงและออกคำสั่งกักเรือ โดยทำการล็อกเรือประมงเหล่านี้ให้ในระหว่างการดำเนินคดีด้วย นอกจากนี้ กรมเจ้าท่าได้ออกข้อบังคับกำหนดให้เรือทุกลำขนาดตั้งแต่ ๖๐ ตันกรอสขึ้นไป รวมทั้งเรือประมงและเรือโดยสาร ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือ AIS จากเดิม
ที่กำหนดเฉพาะเรือที่รองรับผู้โดยสารเกิน ๒๕ คนขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการเฝ้าระวังการทำประมง
ผิดกฎหมาย
กรมเจ้าท่าได้ทำการปรับปรุงระบบฐานข้อมูล ทวนสอบความถูกต้องของข้อมูล และได้ใช้ระบบ Business Intelligence ในการจัดการประมวลผลข้อมูลทางทะเบียนของเรือประมง ทำให้ปัจจุบันข้อมูลเรือประมงพาณิชย์ในระบบทะเบียนเรือของกรมเจ้าท่าตรงกับข้อมูลใบอนุญาตทำการประมงของกรมประมง
ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด ๑๐,๓๓๙ ลำ สามารถสืบค้นข้อมูลสถานะของเรือได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่เรือที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือถูกดำเนินคดีก็มีกลไกการควบคุมไม่ให้ออกไปจับปลาได้
กรมเจ้าท่ามีแผนที่จะปฏิรูปการจัดการกองเรือในความดูแลของกรมเจ้าท่าให้เกิดความยั่งยืน โดยจะนำมาตรการและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ เริ่มจากการเปลี่ยนระบบการกำหนดหมายเลขอัตลักษณ์ของ
เรือใหม่ให้บ่งชี้ถึงที่มาของเรือได้อย่างชัดเจน จัดทำระบบการขึ้นทะเบียนอู่ต่อเรือ ท่าเรือ เชื่อมโยงข้อมูลให้สามารถระบุตัวตนของเรือได้อย่างรวดเร็ว โดยอู่ต่อเรือต้องรายงานให้กรมเจ้าท่าทราบก่อนการต่อเรือใหม่ทุกลำ จากนั้นกรมเจ้าท่าจะทำการติดตั้งแผ่นป้ายทะเบียนเรือใหม่ทั้งหมด เพื่อแสดงหมายเลขอัตลักษณ์และข้อมูลสำคัญ โดยมีระบบป้องกันการปลอมแปลงด้วย และเพื่อให้เกิดความสะดวกในการระบุตัวเรือ จะมีการกำหนดสีของเก๋งเรือให้แตกต่างกันตามเขตเมืองท่าจดทะเบียนเพื่อให้สามารถสังเกตและตรวจสอบได้จากระยะไกล
โดยจะดำเนินการนำร่องใช้ระบบนี้กับเรือประมงในช่วงต้นปี ๒๕๖๒ ก่อนจะขยายผลไปยังเรือประเภทอื่นต่อไป
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่ายังมีแผนจะจัดระเบียบการเดินเรือภายในประเทศ โดยจัดตั้ง
ศูนย์ควบคุมดูแลและกำกับการเดินเรือให้กระจายตามจังหวัดต่าง ๆ จากเดิมที่มีศูนย์ควบคุมเพียงแห่งเดียว
ที่จังหวัดชลบุรี ยกระดับขีดความสามารถของกรมเจ้าท่าในการควบคุมการเดินเรือในน่านน้ำไทยทั้งหมด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งควบคุมการทำประมงให้ถูกต้องตามกฎหมายและควบคุมการจราจรทางน้ำให้มีความครอบคลุมและ
มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในเวทีอาเซียน ประเทศไทยโดยกรมเจ้าท่าได้ริเริ่มแนวทางการใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการจดทะเบียนเรือเพื่อควบคุมการโอนกรรมสิทธิ์เพื่อยืนยันว่าได้มีการซื้อขายเรือประมงและจดทะเบียนใหม่อย่างถูกต้องไม่ไปสร้างปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
ที่ผ่านมา กรมเจ้าท่าได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการจัดระเบียบกองเรืออย่างเร่งด่วนและจริงจัง โดยเฉพาะเรือประมง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) เพื่อให้เกิดความสมดุลในการจัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งมุ่งมั่น
ที่จะปฏิรูปการจัดการกองเรือไทยอย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินเรือและลดการก่อมลพิษ
จากเรือเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
เวลาทำการ: วันจันทร์ - วันศุกร์ 09:00 - 11:45 น. และ 13:00 - 15:45 น. (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)