ปฏิบัติการพิเศษของหน่วยงานไทยในการจับกุมการทำประมงผิดกฎหมายตามเป้าหมายการต่อต้านประมงผิดกฎหมายของอาเซียน

ปฏิบัติการพิเศษของหน่วยงานไทยในการจับกุมการทำประมงผิดกฎหมายตามเป้าหมายการต่อต้านประมงผิดกฎหมายของอาเซียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 957 view
รัฐบาลไทย โดยศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมประมง ได้ออกปฏิบัติการพิเศษร่วมกันในการจับกุมเรือประมงที่กระทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ในเขตน่านน้ำไทยที่จังหวัดระนอง รวม ๒ ครั้ง ในช่วงระหว่างวันที่ ๒๒ – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ โดยหน่วยงานไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุด SAT (Special Arrest Team) พร้อมเจ้าหน้าที่จากกรมประมง ด่านตรวจสัตว์น้ำระนอง และหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะสุรินทร์ พังงา ออกปฏิบัติการดังกล่าว ส่งผลให้มีการจับกุมเรือที่ทำประมงผิดกฎหมาย รวม ๖๖ ลำ 
 
ในช่วงปฏิบัติการพิเศษครั้งแรก ได้มีการจับกุมกลุ่มเรือประมง ๗ ลำ เป็นกลุ่มเรือประมงที่ถูกจับกุมระหว่างวันที่ ๒๖ – ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๒ ในพื้นที่จังหวัดระนอง ในความผิดฐานปลอมแปลง ปิดบัง หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายประจำเรือประมง หรือทะเบียนเรือประมง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก. การประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๕ และในความผิดฐานร่วมกันนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. การประมงฯ มาตรา ๙๒ มาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๖ ประกอบมาตรา ๑๕๘ โดยมีการลงโทษปรับห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่นำเข้า ณ สถานที่เกิดเหตุบริเวณแพ พี เจ ที่อยู่ ๙๒/๒๐ หมู่ ๕ ตำบลบางริ้น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๒ โดยได้มีการควบคุมตัวผู้ต้องหา พร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองระนอง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย 
 
ในช่วงปฏิบัติการพิเศษครั้งที่ ๒ ได้มีการจับกุมเรือประมงจำนวน ๕๙ ลำ ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๒ ในข้อหาผู้ควบคุมเรือลักลอบนำเรือประมงต่างประเทศเข้ามาในน่านน้ำไทย และเข้าเทียบท่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมประมง อันเป็นความผิดตามมาตรา ๑๗ ของ พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ. ๒๕๖๐ และมีโทษตามมาตรา ๒๔ ประกอบประกาศกรมเจ้าท่า ฉบับที่ ๕๑ /๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๑ ข้อ ๙ และข้อ ๑๑ ประกอบประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการแจ้งข้อมูลล่วงหน้าและกำหนดท่าเทียบเรือของเรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทยที่ประสงค์จะเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๖๐ ลงวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ และในความผิดฐานปลอมแปลง ปิดบัง หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายประจำเรือประมง หรือทะเบียนเรือประมง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก. การประมง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๑๖๕ รวมถึงความผิดฐานร่วมกันนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก. การประมงฯ มาตรา ๙๒ มาตรา ๙๕ และมาตรา ๙๖ ประกอบมาตรา ๑๕๘ ลงโทษปรับห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่นำเข้า และข้อหาเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมืองฯ มาตรา ๑๑ ประกอบมาตรา ๖๒ ส่วนความผิดในข้อหาอื่นอยู่ในระหว่างสอบสวนดำเนินคดีต่อไป โดยขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กักและล็อคเรือไว้ ณ ท่าเทียบเรือต่าง ๆ ในจังหวัดระนอง
 
เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยนำโดย พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี และประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามการดำเนินคดีการทำประมงผิดกฎหมายกับเรือประมงทั้ง ๖๖ ลำ ในพื้นที่ จ. ระนอง ซึ่งเป็นผลจากปฏิบัติการพิเศษร่วมของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกรมประมงดังกล่าว โดย พล.ต.ท. จารุวัฒน์ ไวศยะ ได้กล่าวถึงปฏิบัติการจับกุมการทำประมงผิดกฎหมายในครั้งนี้ว่า เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย โดยที่ผ่านมา จากการเข้มงวดกวดขันของเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมประมง ทำให้สถิติการเกิดคดีการทำประมงผิดกฎหมายลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ๒๕๕๙ มีจำนวนคดีที่เกี่ยวกับการทำประมงผิดกฎหมายรวม ๓,๒๗๐ คดี ปี ๒๕๖๐ มีรวม ๙๕๘ คดี ปี ๒๕๖๑ มีรวม ๕๗๔ คดี และปี ๒๕๖๒ จนถึงปัจจุบัน มีรวม ๓๓๓ คดี 
 
นอกจากนี้ ปฏิบัติการดังกล่าวยังเป็นการแสดงถึงจุดยืนของไทยในการดำเนินการตามเป้าหมายของอาเซียน โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ซึ่งไทยได้เน้นย้ำถึงการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือในการทำการประมงอย่างยั่งยืน การรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และมุ่งหวังที่จะให้การทำประมงผิดกฎหมายหมดไปจากภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนและต่อยอดการดำเนินการตามผลการประชุม ASEAN Meeting on Combating IUU Fishing in Partnership with the EU ซึ่งรัฐบาลไทย โดยกรมประมง เป็นเจ้าภาพ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันการจัดตั้ง ASEAN IUU Network และแสดงถึงจุดยืนร่วมกันของอาเซียน ที่จะขจัดปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายให้หมดไปจากภูมิภาค  
 
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม และบังคับใช้กฎหมายการทำประมงผิดกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยมีเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติภารกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่องอย่างเต็มประสิทธิภาพ และพร้อมที่จะร่วมมือประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ในการสนับสนุนการจัดตั้ง และการปฏิบัติภารกิจงานของ ASEAN IUU Network ในอนาคต โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายที่สามารถเข้าถึงข้อมูล และการติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านการประมง IUU ร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่า และองค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางกฎหมาย เช่น การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและระหว่างประเทศ มาตรการรัฐเจ้าของท่า และมาตรการบริหารจัดการการประมง เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถแก่บุคลากร และการพัฒนาเครื่องมือระบบเทคโนโลยีในการสืบสวนสอบสวน และการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพของการติดตามควบคุมและเฝ้าระวังการกระทำประมงผิดกฎหมายของหน่วยงานประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการต่อต้านการประมง IUU ทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป